กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดตัวโครงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก ตั้งเป้าผลิตกำลังไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ ภายในปี 60 โดยโซลาร์ตรอนลงทุนและแบ่งผลประโยชน์จากการประหยัดไฟสัญญา 21 ปี
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การติดโซลาร์รูฟ หรือหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทุกอาคาร เป็นไปตามเป้าหมายมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน : Sustainable University โดยภายในปี 2559 จะติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ และภายในปี 2560 ซึ่งจะติดตั้งได้อีก 9 เมกะวัตต์ รวมเป็น 15 เมกะวัตต์นอกจากที่ศูนย์รังสิตแล้วยังมีแผนเตรียมขยายพื้นที่การติดตั้งไปยังศูนย์ต่าง ๆ ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง โดยจะมีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานและความยั่งยืนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศต่อไป โดยก่อนหน้านี้ทาง มธ.ได้ดำเนินหลาย โครงการ เช่น โครงการไบค์แชร์ริ่งอัตโนมัติ สวนสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานแสงอาทิตย์ ธนาคารขยะ การผลิตไบโอแก๊สจากเศษอาหาร เป็นต้น
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด 3 อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา คือ Colby College 30 เมกะวัตต์ Arizona State University 24 เมกะวัตต์ และ University of California 16 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะผลิตได้ 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 4 ของโลก และจะเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมากกว่ามหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นอันดับ 1 ของเอเชียที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 5 เมกะวัตต์
“มธ.ศูนย์รังสิตใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 70 ล้านหน่วย เฉลี่ย 190,000 หน่วย/วัน โครงการ 15 เมกะวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 75,000 หน่วย เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ ร้อยละ 30-40 ” นายปริญญา กล่าว
ทางด้านนางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการติดตั้งโซลาร์รูฟนั้นเป็นการแสดงเจตนารมย์ที่เป็นรูปธรรมจะมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน หรือที่เรียกว่าช่วง Peak ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งหลักการทำงานของโซลาร์รูฟจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยโครงการนี้บริษัทเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด 1 เมกะวัตต์ เท่ากับ 50 ล้านบาท รวม 750 ล้านบาท ทำสัญญา 21 ปี แบ่งรายได้ฝ่ายละครึ่งจากเม็ดเงินการประหยัดพลังงานจากโครงการนี้. -สำนักข่าวไทย