กรมอุตุฯ 17 พ.ค.-กรมอุตุฯ ประกาศ 20 พ.ค.นี้ ไทยเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ คาดปีนี้ฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ช่วง ส.ค-ก.ย.ตอนบนเตรียมรับมือพายุลูกแรกของปี
น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายปฏิบัติการ แถลงข่าวการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2562 ว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แต่ยังคงมีความแปรปรวนเกิดขึ้นต่อเนื่อง และอีก 2 วันข้างหน้าฝนจะลดลง เรียกว่าช่วงก่อนฤดูมรสุม (pre-monsoon) ก่อนที่สัปดาห์หน้าฝนจะมาอีกระลอก และจะมีความชัดเจนมากขึ้น การเริ่มต้นฤดูฝนของไทยในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.
โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.จะเริ่มมีผลในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ก่อน หลัง จากนั้นจะค่อยๆเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จนครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ฤดูฝนปีนี้จะตกต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือน ต.ค.สำหรับในบริเวณประเทศไทยตอนบน แต่ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออก หรือฝั่งอ่าวไทย จะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือน ม.ค.
สำหรับฤดูฝนปีนี้ ปริมาณฝนโดยรวมทั้งประเทศ ฝนจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5-10 และโดยรวมปริมาณฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยช่วงต้นฤดูฝนคือ ปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ
นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค.การกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอและมีปริมาณที่น้อยอาจจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้สำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะนอกเขตชลประทานขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด แต่ในช่วงกลางฤดูฝนคือเดือน ก.ค.- ส.ค.และช่วงปลายฤดูฝน ช่วง ก.ย.-ต.ค.ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้ เคียงกับค่าปกติ และในช่วงเดือนส.ค.และ ก.ย.จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน(พายุหมุนเขตร้อน ศูนย์กลางเกิดในทะเล รัศมีกว้างหลายร้อยกิโลเมตร ความรุนแรงมากกว่า ตัวอย่างลักษณะเดียวกันที่เกิดในบ้านเรา คือพายุปลาบึกและมังคุด ส่วนพายุฤดูร้อนจะเกิดบนพื้นดิน มีผลกระทบแค่บางจุด เกิดแล้วจบ เบื้องต้นขณะนี้จะเกิดอย่างน้อย 1 ลูก โดยจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อาจเกิดน้ำทวมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมล้นตลิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงหน้าฝนปีนี้ ช่วงต้นฤดูฝน พ.ค.-มิ.ย. ฝนไม่มาก แต่จะเริ่มมีปริมาณหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.ซึ่งต้องยอมรับว่าพื้นที่กรุงเทพฯเป็นจุดที่มีความอ่อนไหวสูง อาจมีปัจัยหลายอย่างส่งผลต่อการเกิดขึ้นฝนได้มาก รวมถึงการก่อตัวของเมฆฝนอาจมาได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย ส่วนพื้นที่อื่นๆ กรมอุตุฯ ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อม และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มาอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย