กทม. 10 พ.ค.- หนึ่งในคณะกรรมการแก้ปัญหาจราจร ตร. ชี้ตำรวจจราจรมีอำนาจเรียกตรวจและยึดใบขับขี่ ฝ่าฝืนไม่ให้ตรวจอาจมีโทษจำคุกและปรับ
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา หนึ่งในคณะกรรมการแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือสั่งการ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด
โดยการตั้งจุดตรวจ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้นผู้บังคับการขึ้นไป จุดสกัดจะตั้งได้เฉพาะกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น เช่น ปล้น หรือ ชิงทรัพย์แล้วคนร้ายหลบหนีมาตามเส้นทางในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาระดับรองสารวัตรเป็นหัวหน้าจุดตรวจ หรือจุดสกัด และให้มีระดับสารวัตร ขึ้นไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจ หรือจุดสกัด เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในยกเลิกการตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดทันที
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ตามมาตรา 42 ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และต้องมีใบอนุญาตขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที พร้อมกำหนดโทษ ตามมาตรา 66 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กรณีเรียกเก็บหรือยึดใบขับขี่ เจ้าพนักงานจราจรดำเนินการได้ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 ระบุว่า เมื่อเจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ พบด้วยตัวเอง หรือโดยใช้เครื่องอุปกรณ์ใดๆ ว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับรถนั้นๆ จะว่ากล่าว ตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้
ทั้งนี้ หากมีการออกใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจรสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะเรียกเก็บใบขับขี่ หรือไม่เรียกเก็บใบขับขี่ก็ได้ โดยการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ ไปชำระค่าปรับ ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว โดยส่งมอบให้พนักงานสอบสวนภายใน 8 ชั่วโมง นับแต่วันที่ออกใบสั่ง
ขณะที่ มาตรา 142 กฎหมายให้เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเรียกตรวจโดยสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ เมื่อเห็นว่ารถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้อง ผู้ขับขี่ หรือบุคคลใดในรถนั้น ได้ฝ่าฝืนคำสั่ง
ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ระบุว่า ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำานาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคือ ไม่ให้ดูใบขับขี่ ระวางโทษ จำคุกไม่เกินสิบวัน หรือ ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะยกเลิกการเรียกเก็บใบขับขี่ คงเหลือแค่การเรียกตรวจ และใบสั่งทุกใบสามารถชำระค่าปรับได้ทุกสถานีตำรวจ ซึ่งกฎหมายต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ยืนยันพนักงานจราจร และผู้ขับขี่ สามารถใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพระหว่างตรวจค้นรถได้ เว้นแต่กรณีคนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องมาบันทึกภาพอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์
ส่วนเครื่องหมาย หรือ ตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ติดกระจังหน้ารถ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดความผิดไว้ชัดเจน เว้นแต่เจ้าของเครื่องหมาย หรือตราสัญลักษณ์จะไม่อนุญาต แล้วพบการฝ่าฝืนสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้.-สำนักข่าวไทย