กทม. 4 พ.ค.-อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ปล่อยตัว และลดโทษ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวเพื่อกลับคืนสู่สังคม มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง และไม่กระทำผิดซ้ำ
พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่าหลังจากมีพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดี ให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษและปล่อยตัว เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ 4 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ
สำหรับครั้งนี้จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำนวน 2 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี รวมถึงผู้พิการ ผู้ที่เป็นโรคร้ายแรง และชราภาพ เป็นต้น
และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ได้แก่ ผู้ต้องราชทัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มแรก โดยจะได้การลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและฐานความผิด
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าในระหว่างที่ผู้ต้องราชทัณฑ์ถูกควบคุมตัวนั้น กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน องค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันเตรียมความพร้อม ก่อนปล่อยผู้ต้องราชทัณฑ์ ทั้งการให้การศึกษา อบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ และการแนะแนวการประกอบอาชีพ อีกทั้ง ยังได้ร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม ติดตามดูแล และช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยหวังว่าสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการหรือห้างร้านบริษัทต่างๆ จะให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ร่วมให้กำลังใจ และเปิดใจยอมรับผู้ก้าวพลาด ให้ได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไม่ให้หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก.-สำนักข่าวไทย