ทำเนียบฯ 30 เม.ย. – ครม.เห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจรองรับก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร ใช้งบ 13,200 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการ รับมือเปิดเทอม หนุนการท่องเที่ยว ส่งเสริมการอ่าน ลดภาระซื้อบ้านหลังแรก คาดดันจีดีพีทั้งปีโตร้อยละ 3.9
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนกนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้นรองรับการเข้ามาบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนกระทบต่อการส่งออก การใช้จ่ายในประเทศทรงตัวจากกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศน้อย รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ 4 มาตรการ วงเงินช่วยเหลือทั้งหมด 13,200 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1. มาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน ด้วยการเติมเงินให้ผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมีบัตรประจำตัวผู้พิการ 1.16 ล้านคน วงเงิน 1,160 ล้านบาท จ่ายเพิ่มให้คนละ 200 บาทต่อเดือน เริ่มจ่ายตั้งแต่ 9 พฤษภาคม-กันยายน 2562 เพื่อใช้ซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้า ถอนเงินสดผ่านเครื่อเอทีเอ็ม มาตรการเติมเงินลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการ ในเรื่องค่าปุ๋ยและปัจจัยการผลิต ลดภาระเกษตรกรที่ถือบัตรคนจน 4.1 ล้านคน วงเงิน 4,100 ล้านบาท โดยจ่ายให้ครั้งเดียวคนละ 1,000 บาท เริ่มจ่าย 8 พฤษภาคมนี้
มาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการเติมเงินเข้าไปให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เพื่อลดภาระก่อนเปิดเทอมหวังดูแลผู้ปกครองมีบุตรศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาลงมา บุตร 1 คนได้รับเงินอุดหนุน 500 บาท หากมีบุตร 3 คนได้รับเงิน 1,500 บาทต่อครอบครัว กลุ่มเป้าหมาย บุตรในช่วงเปิดเทอม 2.7 ล้านคน วงเงินรวม 1,350 ล้านบาท ส่งเงินให้ใช้เพียงครั้งเดียว 500 บาทต่อบุตรหนึ่งคน เริ่มจ่ายเงินเข้าบัตรฯ ตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2562 รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ใช้เงิน 6,600 ล้านบาท รัฐบาลเติมให้ไปใช้จ่าย หรือกดเป็นเงินสดเพิ่มเติมคนละ 500 บาท จากปัจจุบันได้รับเงิน 200 หรือ 300 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 2 เดือน เริ่มจ่ายเงิน 1 พฤษภาคม-มิถุนายน 2562 รวมทั้งหมดใช้เงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการ 13,200 ล้านบาท
มาตรกรที่ 2 เป็นมาตรการภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เปิดให้นำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ไทย และสถานที่พักไม่ได้เป็นโรงแรมมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริง จากเดิมครบกำหนดไปแล้วเมื่อปลายปี จึงได้ขยายวงเงินลดหย่อนให้มากกว่า 15,000 บาท สำหรับเมืองหลัก ส่วนเมืองรองหักลดหย่อนเพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อคน เพื่อจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ เริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน- 30 มิถุนายน 2562 มาตรการภาษี สำหรับส่งเสริมด้านกีฬา การศึกษา หากซื้ออุปกรณ์กีฬา ชุดกีฬา การศึกษา จากผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน เริ่ม 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562 ไม่นับรวมการซื้อคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต
มาตรการภาษี สำหรับส่งเสริมการอ่านหนังสือ รวมทั้ง E-Book จ่ายตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท เริ่มย้อนหลังจาก 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562 ตลอดทั้งปี 2562 รวมถึงมาตรการช้อปช่วยชาติ สำหรับการซื้อสินค้าโอทอป มาตรการภาษีสำหรับการซื้อบ้านหลักแรก เพื่อลดภาระทางภาษีให้นำค่าใช้จ่ายซื้อบ้านหักลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องถือครองบ้านในช่วง 5 ปี ไม่นับรวมการทำสัญญาโอน เริ่มนับการซื้อบ้านตั้งแต่ 30 เมษายน-ธันวาคม 2562 โดยต้องโอนภายในปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสอง แต่ต้องเป็นบ้านหลังแรกของคนซื้อบ้าน
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการภาษีสำหรับส่งเสริมการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระบบเครื่องคิดเลขชำระเงิน POS เชื่อมโยงข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ติดตั้งระบบหัก ณ ที่จ่าย นำค่าใช้จ่าย หักลดหย่อน 2 เท่าของเงินลงทุน มาตรการทั้งหมด ด้านการท่องเที่ยว ภาครัฐสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท ด้านซื้ออุปกรณ์กีฬา การศึกษา กระทบรายได้ 1,500 ล้านบาท สินค้าโอทอป 150 ล้านบาท ส่งเสริมการอ่าน 2,250 ล้านบาท การลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ กระทบ 2,370 ล้านบาท การซื้อบ้านหลังแรก กระทบ 1,350 ล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับผู้บริหารกรมสรรพากร แถลงว่า มาตรการพยุงเศรษฐกิจจะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวถึงร้อยละ 3.9 ในปี 2562 จากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังจะเติบโตได้ร้อยละ 3.8 โดยขณะนี้เงินกองทุนบัตรสวัสดิการใช้จ่ายไปแล้ว 80,000 ล้านบาท เหลือ 140,000 ล้านบาท ได้เสนอของบประมาณปี 2563 รองรับการใช้เงินอีก 63,000 ล้านบาท และยังศึกษาร่วมกับจุฬาฯ เพื่อปรับระบบการลงทะเบียนปีต่อไป เพื่อลดปัญหาและปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มเติม .- สำนักข่าวไทย