นนทบุรี 25 เม.ย. – อธิบดีกรมการค้าภายในเตรียมออกมาตรการคุมราคาหมูหน้าฟาร์มห้ามเกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม หวั่นพ่อค้าจานด่วน-ก๋วยเตี๋ยวฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหาร ราคาหมูพุ่งหลังเพื่อนบ้านเจอปัญหาโรคระบาด
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมออกมาตรการควบคุมไม่ให้ราคาหมูหน้าฟาร์มเกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาเนื้อหมูชำแหละ 150 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาหน้าฟาร์ม 73-74 บาทต่อกิโลกรัม เน้นการกำหนดเพดานสูงสุดและควบคุมปริมาณการส่งออก เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากปัจจุบันพบว่าราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในฟาร์มประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่งผลให้ความต้องการเนื้อหมูในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการหารือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและตกลงกันว่าหากราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยเกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม ก็ต้องมีการหามาตรการคุมราคาไม่ให้ปรับเพิ่มกว่านี้เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค แต่หากไม่เกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม ทางกรมฯ ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งสมาคมก็เห็นด้วย โดยต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาหมูตกต่ำมากจนทำให้หลายรายประสบปัญหาขาดทุน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องควบคุมราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 75 บาทต่อกิโลกรัม เพราะไม่ต้องการให้พ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบเนื้อหมูปรับขึ้นราคาจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค เพราะหากอาหารดังกล่าวปรับราคาแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรับราคาลดเหมือนกับราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมู และอื่น ๆ ที่สามารถปรับขึ้นและลงตามความต้องการของตลาด
สำหรับไทยมีสุกร 19-20 ล้านตัว หรือปริมาณเนื้อ 1.45-1.49 ล้านตัน ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ 14-15 ล้านตัว ที่เหลือส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ไทยถือว่าโชคดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีระบบป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์ได้เป็นอย่างดี และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาระบาดในไทย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำประหลัง และปลายข้าว ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารหมู
นอกจากนี้ กรมฯ ยังติดตามสถานการณ์ค่าครองชีพโดยรวมขณะนี้ ค่าเฉลี่ยค่าครองชีพของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปี 2562 ไม่ถึงร้อยละ 1 เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับทรงต่ำ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากไม่กล้าปรับขึ้นราคาสินค้าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยกเว้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล เช่น มะนาว ผักคะน้า ต้นหอม ขึ้นฉ่าย เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบเรื่องของอากาศร้อน หรือผลผลิตลดลงเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย