กรุงเทพฯ 23 เม.ย. – ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการบันทึกพระราชพิธีที่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านจดหมายเหตุ และภาพถ่ายในอดีต รวมทั้งศึกษาจากประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงประมวลข้อมูลผ่านหนังสือให้ความรู้ในเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชพิธีหลายเรื่อง โดยเฉพาะเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีความหมายและความสำคัญอย่างไร ติดตามจากรายงาน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามโบราณราชประเพณี
นี่เป็นหนึ่งในการบันทึกพระราชพิธีสำคัญ หนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” เรียบเรียงโดยนักประวัติศาสตร์ บันทึกข้อมูลสำคัญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากการศึกษาจากจดหมายเหตุ ภาพถ่ายในอดีต โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หมายถึง เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระมหากษัตริย์ ในพระราชพิธีนี้
โดยสิ่งสำคัญ 5 สิ่ง เรียกว่า เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่สำคัญที่สุด คือ “มงกุฎ” สำหรับมงกุฎของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และมีเกร็ดของประวัติในสมัยรัชกาลที่ 4
“พระแสงขรรค์ชัยศรี” เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ตามประวัติ เนื้อเหล็กของพระแสงขรรค์ชัยศรี จมอยู่ในทะเลสาบเมืองเสียมราฐ สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างทำด้ามพระขรรค์ และทำฝักหุ้มทองคำลงยาประดับอัญมณี สื่อความหมายเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม
“ธารพระกร” หรือ ไม้เท้า สร้างจากไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำ เป็นไม้เท้าด้ามยาว ปลายแหลม 3 แฉก มีความหมายมงคลสื่อถึงการถวายพระพรให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
“พระวาลวิชนี” เดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพัดใบตาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างแส้จากขนของจามรี ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน จึงมีการใช้ควบคู่กัน ทั้งพัดใบตาล และพระแส้ โดยรวมเรียกว่า วาลวิชนี
และสิ่งที่ 5 คือ “ฉลองพระบาทเชิงงอน” ทำด้วยทองคำลงยาฝังเพชร รูปทรงรองเท้าแบบอินเดียหรือเปอร์เซีย สื่อถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปยังทุกที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน
นอกจากนั้นจะมีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระแสงองค์ต่างๆ อาทิ จักรและพระแสงตรีศูล เครื่องหมายแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และตามหมายกำหนดการในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ. – สำนักข่าวไทย