กทม. 3 เม.ย. – ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่คลี่คลาย และยาวนานมากกว่า 1 เดือน ทำให้เกิดคำถามปัญหาสุขภาพระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ชี้ว่า ปัญหาฝุ่นไม่ควรมองข้าม ในระยะยาวก่อมะเร็งปอดได้
ภาพแผนที่ไฟของนาซา แสดงเห็นถึงพื้นที่ที่มีควันไฟทั่วโลก โดยตอนเหนือของไทยและตะเข็บชายแดนในประเทศเพื่อนบ้านล้วนแต่มีการเผาและเกิดควันไฟ ประกอบกับทิศทางของลม และสภาพพื้นที่ของไทยเป็นแอ่งและหุบ ทำให้วิกฤติฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ไม่คลี่คลาย
แพทย์โรคภูมิแพ้ ชี้ว่า แม้จะยังไม่สามารถสรุปตัวเลขว่ามีคนป่วยจากฝุ่นขนาดจิ๋ว แต่หลักฐานเชิงประจักษ์จากจำนวนผู้ป่วยเด็ก และคนแก่เข้า-ออกตามคลินิก และโรงพยาบาลเกี่ยวโรคภูมิแพ้กำเริบ พบมากขึ้น
ความรู้เรื่องวิกฤติคุณภาพอากาศ จากค่า เอคิวไอ จึงมีความสำคัญ มากกว่าสร้างความตระหนกเพียงอย่างเดียว โดยวิกฤติคุณภาพอากาศสีส้ม แดง แค่ 15 นาที สำหรับคนป่วยภูมิแพ้ หอบ หืด และหัวใจ ควรระวัง สวมหน้ากาก งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนคนทั่วไปวิกฤติสีแดง ก็ไม่สมควรออกจากบ้านแล้ว เพราะหากสัมผัสฝุ่นระยะเวลานาน ซ้ำๆ ทุกๆ วัน นานนับปี ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 จะเข้าไปหลอดเลือดและปอด ก่อให้เกิดการอักเสบและอันตรายกลายเป็นมะเร็งได้
อันตรายหรือความรุนแรงของฝุ่นจิ๋ว ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ระยะเวลาการสัมผัส และการเผาไหม้เกิดสารอะไร ดังนั้น ความรู้เรื่องคุณภาพคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน จะเป็นตัวช่วยป้องกันตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะสภาพอากาศไม่ได้เลวร้ายตลอดเวลา เราสามารถหลีกเลี่ยงได้
วิกฤติฝุ่นจิ๋ว ทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัว ปัญหามลพิษที่แต่เดิมมองไม่เคยมองเห็น ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เพียงแต่ต้องใช้เวลาแก้ไข ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย . – สำนักข่าวไทย