กรุงเทพฯ 2 เม.ย.-สภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย
ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีจากเดิมคาดไว้จะเติบโตร้อยละ 5 เหลือเติบโตร้อยละ 3
ย้ำยังมีหลายปัจจัยเป็นตัวฉุดให้การส่งออกไทยเติบโตได้น้อย
น.ส.กัณญภัค
ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย( สรท.) เปิดเผยว่า แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์
2562 ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงออกมาว่าเป็นบวกร้อยละ 5.9 หรือมีมูลค่า 21,553.7
ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อลงไปดูเป็นการบวกจากยุทโธปกรณ์ทางทหารในการฝึกซ้อมรบ แต่เมื่อหักส่วนนี้ออกไปตัวเลขส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ยังติดลบถึงร้อยละ
4.9 และยังมองว่าส่งออกในเดือนมีนาคมหากติดลบร้อยละ 4-5
อีกจะส่งผลให้ตัวเลขส่งออกในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ไทยติดลบไม่น้อยกว่าร้อยละ 4-5 หากดูตัวเลขส่งออกสินค้าของไทยในหลายอุตสาหกรรมยังมีอัตราการขยายตัวแต่ไม่มากนัก
ทั้งนี้ สรท.ขอติดตามสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงของผู้นำทั้ง 2 ประเทศระหว่างสหรัฐกับจีนจะจบลงอย่างไร
รวมทั้งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกทั่วโลกตอนนี้ คือ
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงทรุดตัว ปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
แม้ในช่วงนี้จะออนค่าลงไปบ้าง แต่หากค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งทำให้ความสามารถแข็งขันของไทยลดลงไปมาก
น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า จากที่สรท.คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ
5 แต่หลายหน่วยงานปรับลดตัวเลขคาดการณ์ส่งออกในปี 2562 ใหม่
โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าส่งออกไทยจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 3.1
ดังนั้น ในส่วนของสรท.ขอรอดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนว่าทิศทางตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ
5 ด้วยค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทิศทางสงครามการค้าสหรัฐและจีนมีทางออกที่ดีส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น
แต่หากการส่งออกของไทยยังไม่ดีขึ้น คาดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะเติบโตแค่ร้อยละ
3 หรืออาจติดลบก็ได้ เพราะหากจะให้ตัวเลขส่งออกเติบโตร้อยละ 5
จะต้องผลักดันส่งออกในช่วง 9 เดือนที่เหลือต่อเดือนไม่ต่ำ 22,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และถ้าเติบโตเพียงร้อยละ 3 จะต้องส่งออกรายเดือน 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ผู้ส่งออกยังกังวลใจ คือ
การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ หากบางพรรคการเมืองเคยนำไปหาเสียงไว้ ถ้ากลับมาเป็นรัฐบาลจะพิจารณาค่าจ้างแรงงานใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่กระทบเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการทั้งระบบได้
จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาถึงผลดีและผลเสียแนวทางเหล่านี้ให้ดีขึ้นก่อนจะประกาศใช้จริงและอีกหลายปัจจัยที่รัฐบาลใหม่จะต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว.-สำนักข่าวไทย