กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งการด่วนกรมฝนหลวง เร่งทำฝนช่วยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจังหวัดบุรีรัมย์ หลังขาดน้ำ 2 เดือน พร้อมกันนี้ให้กรมชลประทานสูบน้ำจากห้วยจระเข้มากเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้เดินทางมาติดตามผลการทำฝนหลวง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการบรรเทาภัยแล้งทั่วประเทศ จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมากขาดน้ำมา 2 เดือนกว่าแล้ว ส่งผลให้ต้นที่แตกใหม่แห้งตายและแคระแกรน จึงได้บินปฏิบัติการทำให้มีฝนตกลงมาในอำเภอเมือง สตึก ห้วยราช บ้านด่าน กระสัง คูเมือง และแคนดงปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรดีใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับวันนี้หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นบินปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและช่วยเหลือพื้นที่เกษตรตอนล่างของจังหวัดร้อยเอ็ด
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 1 เมษายนนี้จะย้ายอากาศยานไปรวมที่หน่วยปฏิบัติการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขยายหน่วยให้ใหญ่ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพอากาศอีก 2 ลำ รวมกับฝนหลวง 3 ลำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะตอนใต้ของภาคซึ่งประสบภัยแล้งรุนแรง ส่วนหน่วยปฏิบัติการจังหวัดบุรีรัมย์กำหนดให้เป็นฐานเติมสารฝนหลวง เมื่อบินมาปฏิบัติการสามารถลงเติมสารฝนหลวง เพื่อปฏิบัติการต่อเนื่องได้ทันที ทั้งนี้ สภาพอากาศไม่ได้เอื้อต่อการทำฝนทุกวัน จึงต้องตรวจสอบค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ดัชนีค่าการยกตัวของเมฆอย่างใกล้ชิดช่วงชิงจังหวะขึ้นปฏิบัติการ เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับอุปโภคบริโภคด้วย
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เร่งช่วยเหลือกลุ่มเกษตรในเขตพื้นที่ชลประทานของคลองส่งน้ำฝั่งขวาอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งสถานการณ์น้ำเมื่อสิ้นฤดูฝนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากมีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพียง 800,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือประมาณร้อยละ 3 ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าปริมาณน้ำใช้การได้ ส่งผลให้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งได้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยได้ชี้แจงผ่านกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากตั้งแต่ต้นฤดูแล้งแล้ว แต่มีเกษตรกร 20 รายยังคงเพาะปลูกพืชฤดูแล้งรวมพื้นที่ 55 ไร่ โดยอาศัยน้ำที่รั่วซึมจากระบบการผลิตน้ำประปาไหลลงสู่คลองชลประทานประมาณวันละ 3,000 ลบ.ม. จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ได้ปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปา เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการผลิต จึงไม่มีน้ำจากการรั่วซึมจากระบบการผลิตน้ำประปาไหลลงคลองชลประทานอีก ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำใช้ เบื้องต้นโครงการชลประทานบุรีรัมย์ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกับเกษตรกร โดยได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่องเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยจระเข้มากเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เกษตรดังกล่าวแล้ว.-สำนักข่าวไทย