กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – กรมทางหลวงยืนยันถนนวงแหวนรอบนอก 3 ตะวันตกเหมาะสมสอดรับเมืองขยายตัว เตรียมสรุปจุดขึ้น-ลงลดผลกระทบหมู่บ้านพฤกษา 19 เม.ย.นี้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก (ระยะทาง 98 กม.) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ระยะทาง 254 กม.) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540 โดยกรมทางหลวงเคยศึกษาความเหมาะสมของโครงการเมื่อปี 2552 ปัจจุบันเมืองมีการเจริญเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัด กรมทางหลวงจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตกใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการศึกษาทบทวนแนวเส้นทางและรูปแบบการก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการ ผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่าโครงการฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีค่า EIRR ประมาณ 15.8%
สำหรับขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการ กรมทางหลวงร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามวิธีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มาใช้ประกอบการพิจารณา และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว 4 ครั้ง (จากทั้งหมด 5 ครั้ง) โดยครั้งที่ 1 เป็นการปฐมนิเทศโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุม 336 คน ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมหารือแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,054 คน ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุม 892 คน และครั้งที่ 4 เป็นการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของโครงการ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2562 โดยแต่ละครั้งจะเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ กลุ่มพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 4 นั้น เนื่องจากการออกแบบเบื้องต้นมีแนวเส้นทางที่มีความชัดเจนแล้ว จึงมีการเชิญเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ในแนวเวนคืนเบื้องต้นเข้าร่วมประชุมโดยตรงด้วย
ส่วนแนวเส้นทางที่มีการร้องเรียนว่าผ่านแหล่งชุมชมจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล โรงงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักนั้น ขั้นตอนของการพิจารณากำหนดแนวเส้นทาง กรมทางหลวงและที่ปรึกษาได้พิจารณาหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณแนวเส้นทางโครงการ และได้ทำการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสม โดยใช้เกณฑ์การศึกษาทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลการคัดเลือกแนวเส้นทางไม่ผ่านโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ส่วนกรณีโรงพยาบาลนั้น มีแนวเส้นทางผ่านโรงพยาบาลศาลายาบริเวณที่จอดรถระยะประชิด ซึ่งที่ปรึกษาได้เข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลศาลายาแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 สำหรับกรณีผ่านโรงงานและชุมชุนนั้น ได้พิจารณาลดผลกระทบอย่างสูงสุด เพื่อให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง แต่แนวเส้นทางมีความยาว 98 กม. บางตำแหน่งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในการดำเนินงาน กรมทางหลวงและที่ปรึกษาได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และได้มีการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และระยะดำเนินการแล้ว
นายอานนท์ กล่าวว่า ในส่วนของทางแยกต่างระดับที่เป็นทางเข้าออกโครงการฯ บริเวณหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ที่มีการร้องเรียนนั้น ที่ปรึกษาได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบทางเลือกของทางแยกต่างระดับ 3 รูปแบบ โดยมีการให้คะแนนทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้คัดเลือกรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ประชาชนหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ได้เข้ามายื่นข้อร้องเรียนที่กรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงได้รับทราบปัญหาแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาลดผลกระทบจากการพัฒนาโครงการและจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในวันที่ 19 เมษายน 2562
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษมีความจำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากทางหลวงพิเศษจะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เป็นทางหลวงที่มีมาตรฐานสูง มีการควบคุมจุดเข้า-ออก ส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักและพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย