กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – คมนาคมเดินหน้าตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศ ลดการนำเข้า 70,000 ล้านบาท ดันไทยศูนย์กลางระบบรางอาเซียน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน RAIL Asia Expo 2019 รับกระแสมิติใหม่การขนส่งระบบรางปี 2020 โดยประกาศเดินหน้าตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศลดนำเข้า 70,000 ล้านบาท และพลิกโฉมไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน โดยงานนี้มีบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีระบบรางทั่วโลการ่วมแสดงนวัตกรรมกว่า 120 ราย และมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมงานกว่าพันคน
นายไพรินทร์ ได้ย้ำความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะฉะนั้นสามารถเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายเดิมได้ตามปกติ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟและรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนจะให้ความสำคัญและเดินหน้าโครงการเหล่านี้ เพราะเป็นระบบที่จะเพิ่มความสะดวกสบายการเดินทางให้ประชาชน
ขณะเดียวกันได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Rail Car Assembly Plants Initiatives for Thailand” การริเริ่มโรงงานประกอบรถไฟในประเทศไทย โดยรัฐบาลและสำนังานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการหารือร่วมกันส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย คาดเริ่มปี 2563-2564 ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตโรงงานผลิตในไทยสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ ทั้งนี้ คาดการณ์จะตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้าได้สูงถึง 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้/ปีในปี 2570 การจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในไทย ในอนาคตจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่า จากเดิมมีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต ประกอบในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษาได้อีกกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเสริมให้คนไทยมีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีการขนส่งระบบรางใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้เกิด “ฟีดเดอร์ระบบราง” มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ ภาคเอกชน หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ลงทุนระบบรางเอง เช่น กรณีรถไฟฟ้าสายสีทอง ล่าสุด กทม.เตรียมเสนอทำรางฟีดเดอร์ต่อเชื่อมจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสถานีแบริ่งไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ(รถไฟฟ้าสีฟ้าอ่อน) หากมีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมจะทำให้ประชาชนฝั่งสมุทรปราการสามารถเดินทางด้วยระบบรางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิทางทิศใต้ของสนามบินได้ โดยไม่ต้องเข้าสนามบินทางด้านทิศเหนือเหมือนปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย