กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – ธปท.คุมเข้มสินเชื่อบ้าน ไม่ขัดขวางคนอยากมีบ้านโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ระบุเศรษฐกิจจีนชะลออาจกระทบกำลังซื้อ
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาประจำปี 2562 ของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยระบุว่ามาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ ธปท.มีเจตนาจะกำกับความเสี่ยงเฉพาะจุดและพยายามจะให้กระทบประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงน้อยที่สุด และเชื่อว่าการใช้เครื่องมือนโยบายผสมผสานและสอดคล้องกันทั้งมาตรการ Macroprudential และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีที่ผ่านมาจะช่วยลดความเสี่ยงภาคอสังหริมทรัพย์และดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปขัดความต้องการบ้านของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่เน้นทำมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนก่อหนี้มากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงในการชำระหนี้ในอนาคต และป้องกันการปล่อยสินเชื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มผู้ซื้อหรือมีการนำไปลงทุนเพื่อเก็งกำไรมากไปกว่ากลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริง และเพื่อดูแลไม่ให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นมากจนเกิดความเสี่ยงที่รุนแรงจนกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบในอนาคต อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย หลังจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีผลบังคับอย่างใกล้ชิดและจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมยืดหยุ่นและเท่าทันต่อสถานการณ์ เพื่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศขยายตัวตามศักยภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ตัวแปรกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย คือ ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จะต้องปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระยะต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ย่อมกระทบต่อการวางแผนต่อการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการ และกระทบต่อการวางแผนการปล่อยสินเชื่อและต่อการเติบโตของสถาบันการเงิน ธปท.แบ่งผู้ซื้อออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ซื้อคนไทย ปัจจุบันมีหลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบเช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะต่อไป ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง ผลจากนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของรัฐอย่างโครงการบ้านล้านหลังของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อของ ธปท.และปัจจัยการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้งว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนลูกค้าต่างชาติ จะมีการปรับตัวของอุปสงค์ของลูกค้าต่างชาติ โดยปี 2561 ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่มจากปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 30 ลูกค้าหลัก คือ ชาวจีน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 43 ของมูลค่าเงินโอนของชาวต่างชาติทั้งหมด แม้วันนี้ความต้องการซื้อของชาวจีนยังไม่เห็นว่าลดลง แต่การที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงอาจจะกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของชาวจีนได้
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า สนับสนุน ธปท.ออกมาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป แต่เห็นว่ามาตรการที่ออกมาแม้เพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ยังถือเป็นมาตรการที่อ่อนมากเมื่อเทียบกับมาตรการดูแลสินเชื่อที่มีการนำออกมาใช้กันทั่วโลก เพราะมาตรการของ ธปท. เพียงต้องการลดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ออกมาขายจำนวนมาก ลดการเก็งกำไร ขายต่อ หรือให้เช่า แต่เนื่องจากคนไทยได้รับการผ่อนปรนการให้สินเชื่อมานานเปรียบได้กับประชานิยมแบบหนึ่ง จึงมีการเสพติดและต้องการมากขึ้นจนที่สุดจะนำไปสู่วิกฤติอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศเวเนซูเอล่าและวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยไม่ควรเป็นอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการของ ธปท.มาในช่วงนี้เป็นช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอยู่ในภาวะล้นตลาด การที่ ธปท.เข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ทำให้มีผลกระทบสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ ประชาชนและเศรฐกิจประเทศ แต่ยังเชื่อว่าปีนี้การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาสแรกจะเพิ่มขึ้นมากและทั้งปีน่าจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ประมาณ 500,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมาและมียอดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คงค้างรวม 3.5 ล้านล้านบาท.-สำนักข่าวไทย