ลำปาง 25 มี.ค.-ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง เผยสหกรณ์เปรียบเสมือนที่พึ่งของเกษตรกร แม้ราคายางจะตกต่ำหรือแพง เกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยสหกรณ์จะเป็นผู้แบกรับการขาดทุนแทนเกษตรกร พร้อมเร่งหาแนวทางเพิ่มมูลค่ายางพารา
นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง จำกัด เปิดเผยถึงการทำงานของสหกรณ์ว่า ได้เริ่มต้นตั้งขึ้นมาในปี 2557 หลังจากจังหวัดลำปางและทางภาคเหนือ มีการปลูกยางพาราในปี 2546 และเริ่มเก็บผลผลิตน้ำยางได้ หลังจากปลูกประมาณ 7-10 ปี
โดยเริ่มมีการตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในระดับอำเภอขึ้นในปี 2551 จากนั้นในปีถัดมา กยท. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ในการดูแลและการกรีดยางที่ถูกวิธี เพื่อจะให้ได้น้ำยางมาก เมื่อเกษตรกรหันมาปลูกยางแล้ว ถึงเวลาเก็บผลผลิตจะขายที่ไหน และจะมีตลาดรองรับหรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจว่าเมื่อปลูกแล้วต้องมีที่ขาย และขายได้ราคาโดยไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้คือ ต้องมีตัวกลางในการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องนี้ การตั้งสหกรณ์จึงเกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่เข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เกิดเสถียรภาพราคายาง เพื่อเป็นตัวกลางในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร และช่วยสนับสนุนต้นทุนการปลูก อาทิ ปุ๋ย และอื่นๆ โดยเกษตรกรสามารถนำไปใช้ก่อน จนกว่าจะสามารถขายผลผลิตได้แล้วจึงหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรในจุดนี้ได้มาก
นายสวัสดิ์เปิดเผยว่า ส่วนสมาชิกของสหกรณ์จะเน้นในจังหวัดลำปางเป็นสมาชิกสามัญ และใน 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เป็นสมาชิกสมทบ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดกว่า 900 คน ส่วนของจังหวัดลำปางมีพื้นที่ปลูกทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ณ ขณะนี้มีประมาณ 50,000 ไร่ ในแต่ละปีจะมีผลผลิตประมาณ 2,000-3,000 ตัน และปีนี้การผลิตปี 2561/2562 (มิ.ย.61-พ.ค.62) ตั้งเป้าจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 7,000 ตัน คาดว่าจะเกิน 50% ที่ตั้งเป้าไว้ โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจะครบกำหนดกรีดในอีก 2-3 ปี ส่วนคุณภาพของน้ำยางจะขึ้นอยู่กับการดูแล การใส่ปุ๋ย ซึ่งจะไม่แตกต่างจากน้ำยางในภาคใต้
ส่วนด้านตลาดต้องยอมรับว่าตลาดยางมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อ 4-5 ปีก่อน ยางแท่งจะทำกำไรได้มาก แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ทำให้ปัจจุบันสหกรณ์จะเน้นการรับซื้อยางก้อนถ้วยแห้ง ค่าเปอร์เซ็นต์ยาง หรือค่า DRC อยู่ที่ประมาณ 75% และนำมาผลิตเป็นยางแท่ง 1 ก้อน ประมาณ 35 กก. ส่วนยางสดจะมีบ้าง แต่จะไม่เน้น เพราะจะมีปัญหาทุกปีทุกที่ ทั้งเรื่องราคา การขนส่ง กลิ่น กระทบทั้งหมด จะนำมาสตอกเฉพาะที่จะต้องส่งจำหน่ายให้กับหน่วยงานที่จะนำไปทำถนนยางพารา ขณะนี้ส่งไปยัง อบจ.เชียงใหม่ ดังนั้น สหกรณ์จึงเน้นเป็นตลาดรับซื้อยางแห้ง และขายในประเทศเป็นหลัก
ขณะนี้สหกรณ์เป็นจุดศูนย์กลางในการรับซื้อยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ และจะรับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดยางประมาณ 1 บาท แต่จะรับซื้อสูงกว่าพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อเอง เพื่อช่วยเหลือสมาชิก แม้ในบางช่วงสหกรณ์จะต้องยอมรับซื้อจนหมดทุน แต่ก็ยังขายไม่ได้ ต้องรอให้ราคายางขึ้น และพอไม่ให้ขาดทุนก็ต้องยอม ซึ่งบางครั้งทุนของสหกรณ์หมดแต่ยังขายไม่ได้ สหกรณ์ก็ต้องยอมขายในราคาต่ำ เพื่อจะให้มีทุนในการไปรับซื้อยางของเกษตรกรต่อ ขาดทุนก็ต้องยอม เพราะอย่างน้อยต้องช่วยเกษตรกรให้มีตลาดขายให้ได้ แม้ปัจจุบันตลาดยางแห้งจะเริ่มขึ้นประมาณ กก.ละกว่า 40 บาท แต่ยางในสตอกของสหกรณ์เหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น แม้สหกรณ์จะขายได้ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถกลบที่ขาดทุนไปได้ แต่สมาชิกไม่ได้เดือดร้อนกับราคาตลาดที่ปรับขึ้นลงแต่อย่างใด
เพื่อให้ตลาดยางพาราไม่มีปัญหา ขณะนี้ทางสหกรณ์ได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการนำยางพารา ซึ่งทางสหกรณ์มีวัตถุดิบอยู่แล้ว นำมาเพิ่มมูลค่าทำเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทดลองทำ หากทำได้คาดว่าจะสามารถระบายยางพาราได้ส่วนหนึ่ง และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้ในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย