นนทบุรี 13 มี.ค. – พาณิชย์ดึงช้อปปี้ขายสินค้าชุมชนตลาดอี-คอมเมิร์ซ ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” คัดสรรสินค้าชุมชนดีเด่นดังจากทั่วประเทศเปิดให้บริการ 13 มี.ค.นี้ ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือการส่งเสริมสินค้าชุมชนไทยเข้าสู่ช่องทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซ กับนายเทอเรนซ์ แพง ประธาน ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ครั้งนี้ เพื่อยกระดับผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วยความแข็งแกร่งภายใต้แคมเปญ ของดีออนไลน์ by DBDโดยกรมฯ และช้อปปี้ร่วมกันคัดสรรสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพดีจากผู้ประกอบการชุมชนทั่วประเทศมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ พร้อมให้การสนับสนุนการทำการตลาด แนะนำวิธีการจัดการร้านค้า และเป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาร้านค้าผู้ประกอบการฯ ดังกล่าวได้ที่ www.shopee.co.th/dbdonline
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสินค้าชุมชนพร้อมจำหน่ายบนแพลทฟอร์มของ Shopee 5 หมวดหมู่สินค้า 473 รายการ แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่ม 430 รายการ สุขภาพและความงาม 29 รายการ กระเป๋า 2 รายการ ของเล่น/สินค้าแม่และเด็ก 1 รายการ และอุปกรณ์เครื่องเขียนและหนังสือ 1 รายการ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Shopee ไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 100 ล้านบาทต่อปี
นายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ กล่าวว่า ช้อปปี้มีความมุ่งมั่นสนับสนุนวิสัยทัศน์หน่วยงานภาครัฐของไทยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบธุรกิจไทยเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” สินค้าชุมชนและสินค้าเอสเอ็มอีคุณภาพดีที่ได้คัดสรรจากผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ได้เลือกช้อปปิ้งกันอย่างจุใจ ในราคาพิเศษลดสูงสุดร้อยละ 20 ตั้งแต่วันที่ 13 – 20 มีนาคมนี้ ที่ www.shopee.co.th/dbdonline ได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่า ปี 2560 ไทยมีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซ 2,812,592.03 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าประเภท B2B 1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.56 รองลงมา B2C 812,612.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.89 และส่วนที่เหลือ 324,797.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.55 เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G เมื่อเทียบมูลค่าอี-คอมเมิร์ซปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้นร้อยละ 8.63 และประเภท B2C เติบโตขึ้นร้อยละ 15.54 และคาดการณ์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซปี 2568 ทั่วโลกนี้มีจะยอดไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยจะมีสัดส่วนตลาดนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือมีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. – สำนักข่าวไทย