กทม.12 มี.ค.-ครบ15 ปีทนายสมชายหายตัว ญาติเผยยังรอความยุติธรรม เรียกร้องรัฐอย่าหยุดการค้นหา ไม่ใช่เยียวยาเเล้วจบคดี เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.บังคับบุคคลให้ศูนย์หาย ถูกเลื่อนพิจารณา จากเดิมเข้า สนช.7 มี.ค.ที่ผ่านมา ฝากรัฐบาลใหม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สถานทูตเนเธอร์เเลนด์ ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเเละเเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จัดงานครบรอบ 15 ปีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และเสียงจากญาติผู้สูญหาย เนื่องในโอกาสครบ รอบ15 ปีที่นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความหายตัวไป ภายในงานมีการเสวนา เสียงจากผู้สูญหาย เเละพัฒนาการของกรอบกฎหมายเเละการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย รวมถึงการเเสดงศิลปะวาดภาพเหมือนผู้สูญหายและวาดตามคำบอกเล่าของญาติ
ผู้แทนสถานทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานทูตขอบคุณทุกคน โดยเฉพาะญาติผู้สูญหายที่มาร่วมงานในวันนี้ ที่ยืดหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เชื่อว่าทุกการต่อสู้มีความหมายเเน่นอน สำหรับเนเธอร์เเลนด์เองก็มีนโยบายการต่างประเทศที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม การบังคับให้สูญหายถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องลงโทษให้ถึงที่สุด เพื่อให้ญาติเเละเหยื่อได้รับความเป็นธรรม
นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าวว่า ในทุกวันที่12 มี.ค.ของทุกปี ตนจะออกมาทวงถามถึงความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกบังคับให้สูญหาย นับเเต่วันเเรกที่ทนายสมชายหายไป เดินทางไปทุกทีที่เชื่อว่าจะมีการนำชิ้นส่วนไปทิ้ง ไปศาลทุกวันเพื่อถามหาความเป็นธรรม เเต่ผ่านมา15ปี หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง หากเริ่มตั้งแต่ปี 2555 รัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมกับสหประชาชาติ เพื่อให้มีกฎหมายบังคับบุคคลสูญหายในไทย แต่ต่อมาปี 2558 ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวกับทนายสมชาย โดยระบุว่าถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักขึ้นรถเเล้วหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม ครอบครัวไม่มีสิทธิดำเนินการเรียกร้องเเทนได้ เพราะไม่มีหลักฐานว่าทนายได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เมื่อไม่มีศพเเสดงว่านายสมชายยังไม่ตาย ต้องมาเรียกร้องด้วยตนเอง ญาติพี่น้องทำอะไรไม่ได้ สรุปคดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย
ขณะที่ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.บังคับบุคคลให้สูญหาย กระบวนการพิจารณาของ สนช.ไม่ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมประชาชน เเละ ไม่รับฟังข้อเรียกร้องของญาติเหยื่อ การเขียนกฎหมายเหมือนเขียนด้วยความกลัว สาระสำคัญเทไปที่เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าสิทธิประชาชน ร่างกฎหมายอาจไม่ช่วยการบังคับกฎหมายได้จริงและไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายของสหประชาชาติ เเละล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา สนช.มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เเต่ก็ถูกถอนออกไปโดยไม่มีการพิจารณา
นอกจากนี้รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญ มีเจตนาคุ้มครองประชาชนไม่ควรยุติการค้นหา ต้องนำคนผิดมาลงโทษให้ประชาชนได้ทราบความจริง โดยเฉพาะครอบครัวเหยื่อที่ต้องได้รับรู้เพื่อให้ครอบครัวได้พ้นพันธนาการกับการที่ไม่รู้เลยว่าคนรักอยู่ที่ใด เเต่ผ่านมา 15 ปีได้เรียนรู้ว่าไม่ว่ารัฐบาลไหน การดำเนินการเพื่อความยุติธรรมไม่เคยเกิดขึ้นจริง ยังมีการงดเว้นโทษเจ้าหน้าที่รัฐต่อเนื่อง การเยียวยาเป็นการสงเคราะห์มากกว่าสำนึกผิด ตนต้องการความรับผิดชอบ คือการเปิดเผยความจริงการเอาคนผิดลงโทษ และการสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกยังคับให้สูญหายอีก ซึ่งการให้เงินเยียวยาไม่ได้หมายความว่าจะหมดภาระหน้าที่ในการเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังคดีทนายสมชาย ตนหวังเสมอว่า จะไม่มีคนถูกบังคับให้สูญหายอีกเเต่ก็ยังเห็นเหยื่อการบังคับสูญหายต่อเนื่อง เเต่เชื่อว่าตลอดการต่อสู้ 15 ปี จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าเเละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ออกมาเเสดงพลังเรียกร้องไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจไม่ชอบอีกต่อไป เเละฝากถึงรัฐบาลใหม่ คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน
ด้านนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจี บิลลี่ รักจงเจริญ กล่าวว่า บิลลี่เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่มียศอะไร ตั้งเเต่เด็กพยายามคิดหาความรู้เพื่อช่วยหมู่บ้านของตนเอง ที่ถูกอุทยานประกาศทับเป็นเขตอุทยาน ต่อมาปี 2554 หมู่บ้านถูกเผา คิดหาทางไปช่วยปู่คออี้ สุดท้ายหายตัวไป 17 เม.ย.2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ หัวหน้าอุทยานบอกว่า จับตัวไปจริงเเต่ปล่อยตัวไปเเล้ว เเต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เจอตัว ตนเเละครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม
ไม่ต่างจากนางปราณี เเซ่ด่าน(ด่านวัฒนานุสรณ์) ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่วันนี้หายไปครบ 3 เดือนพอดีที่ สปป.ลาว ซึ่งที่ผ่านมาต่อสู้ด้านการเมืองเเละสิทธิประชาชนมาโดยตลอด เเละนายอดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายนายทนง โพธิ์อ่าน กล่าวว่า นายทนงเป็นผู้นำเเรงงานที่มีบทบาทเเละมีความเข้มแข็งคนหนึ่งในไทย หลังจากที่พ่อสูญหายไป ชีวิตครอบครัวพัง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดตอนนี้คือให้เอาคนผิดมาลงโทษ ไม่ใช่รับเงินเยียวยา
นางซุยเม็ง เอิง ภรรยานายสมบัด สมพอน กล่าวว่า ขอเป็นพันธมิตรกับนางอังคณาเเละครอบครัว ร่วมต่อสู้เพื่อคืนความเป็นธรรมเเละความจริงให้ เพราะ15 ปีที่ผ่านมาเข้าใจความรู้สึกของทุกครอบครัวผู้เสียหาย เนื่องจากก็รับรู้ได้เช่นกัน ‘สมบัด สมพอน’ เป็นคนที่ต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมเเละช่วยเหลือคนยากจนในลาว สหพันธ์เอเชีย
ขณะที่นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงพัฒนาการของกรอบกฎหมายและการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยว่า ร่าง พ.ร.บ.ขณะนี้รอการพิจารณา จากเดิมที่จะเข้าพิจารณาในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เเต่ก็ถูกเลื่อนไป ซึ่งยังมีเวลาอีก 3-4 วันในการพิจารณา ซึ่งถือว่ายังมีความหวัง กระทรวงเองก็ผลักดันให้เกิดกฎหมายโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย