กรุงเทพฯ12 มี.ค. – ปตท.ยังคงครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาดน้ำมันสูงสุดปี 62 ด้านการใช้น้ำมัน ม.ค.62 เทียบ 61 พุ่งร้อยละ 2
กรมธุรกิจพลังงานรายงานว่าเดือนมกราคม 2562 ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมัน กลุ่ม ปตท.ยังเป็นอันดับ 1 ที่ ร้อยละ 36.50 รองลงมา คือ เอสโซ่ร้อยละ 10.38 บางจากฯ ร้อยละ 10.30 เชลล์ร้อยละ 9.42 เชฟรอนร้อยละ 7.13 ขณะที่ผู้ค้าอื่นมีสัดส่วนการตลาดรวมกันร้อยละ 26.24
ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศเดือนมกราคม 2562 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,951 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 159.7 ล้านลิตร หรือ 1,004,485 บาร์เรล/วัน โดยกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว, น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20, น้ำมันดีเซลพื้นฐาน) มีความต้องการใช้สูงสุดวันละ 68.3 ล้านลิตร หรือร้อยละ 42.8 รองลงมา ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว วันละ 17.5 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 20.3 กลุ่มน้ำมันเบนซิน วันละ 31.3 ล้านลิตรหรือร้อยละ 19.6 กลุ่มน้ำมันอากาศยาน วันละ 21.7 ล้านลิตร หรือร้อยละ 13.6 และน้ำมันเตาวันละ 6.0 ล้านลิตร หรือร้อยละ 3.7 ขณะที่น้ำมันก๊าด มีความต้องการใช้เพียงเล็กน้อย วันละ 0.025 ล้านลิตร
สำหรับความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวภายในประเทศเดือนมกราคม 2562 จำนวน 542 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 17.5 ล้านกิโลกรัม เป็นปริมาณการใช้แอลพีจี 443 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 14.3 ล้านกิโลกรัม การใช้โปรเพน 92 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 3.0 ล้านกิโลกรัม และการใช้บิวเทน 8 ล้านกิโลกรัมเฉลี่ยวันละ 0.3 ล้านกิโลกรัม ทั้งนี้ การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของโรงกลั่นแยกเป็นแอลพีจี โปรเพน และบิวเทน ปริมาณ 111.1, 32.5 และ 7.6 ล้านกิโลกรัม ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมลดลงจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเฉลี่ยวันละ 2.5 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 1.6 โดยน้ำมันที่มีการใช้ลดลง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 5.5 น้ำมันเตา ร้อยละ 5.2 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ร้อยละ 2.8 และกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ร้อยละ 0.4 ขณะที่น้ำมันก๊าด เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 และกลุ่มน้ำมันอากาศยาน ร้อยละ 4.0 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2561เพิ่มขึ้นวันละ 3.1 ล้านลิตร หรือร้อยละ 2.0 โดยน้ำมันที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันก๊าด ร้อยละ 24.2 กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 กลุ่มน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 3.7 และกลุ่มน้ำมันอากาศยาน ร้อยละ 3.2 ในขณะที่น้ำมันเตา ลดลง ร้อยละ 5.5 และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ลดลง ร้อยละ 3.3
ส่วนความต้องการใช้เอ็นจีวี 171 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 5.5 ล้านกิโลกรัม ซึ่งปริมาณลดลงจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาวันละ 0.2 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 3.1 และลดลงจากเดือนมกราคมปีก่อนวันละ 0.7 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 11 ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้นปริมาณ 5,646 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 182.1 ล้านลิตร หรือ 1,145,543 บาร์เรล/วันมูลค่าการนำเข้ารวม 70,417 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย