รร.เมอร์เคียวฯ 29 สค.-รมว.ยุติธรรม พร้อมเสนอใช้ม.44 ปรับยาบ้าจากยาเสพติดประเภท 1 เป็นประเภท 2 ให้หมอใช้รักษาได้ เตรียมทบทวนสินบนนำจับ และยกเลิกเรียก ยาบ้า
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง บูรณาการควบคุมเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรม ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยยืนยันความชัดเจนที่จะปรับแก้กฎหมายยาเสพติด ไม่เน้นปราบปราม แต่คัดแยกผู้ค้ารายใหญ่ จากผู้เสพ ยกเลิกการทำสงครามกับยาเสพติด คนตั้งใจเกิดมาค้าต้องลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความมั่นใจให้สังคมว่า ผู้ค้าถูกลงโทษไม่มีการลดเว้น
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยในหลายเวทีกับบุคลากรทางสาธารณสุข พบปัญหาว่าหากจะใช้ระบบสาธารณสุขแก้ปัญหายาเสพติด ให้หมอสั่งใช้เมทแอมเฟตามีนเป็นยารักษาได้ ต้องแก้ บัญชีจากยาเสพติดประเภท 1 เป็นประเภท 2 ซึ่งหาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พร้อม ตนก็พร้อมเสนอใช้มาตรา 44 เพื่อเดินหน้าทันทีแต่ถ้า สธ.ระบบยังรองรับไม่ทัน ก็รอการแก้กฎหมายยาเสพติด ตามปกติ
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดพิจารณายกเลิกสินบนนำจับเพราะเป็นอำนาจหน้าที่ปกติที่เจ้าหน้าที่ต้องปราบปรามอยู่แล้ว การให้สินบนนำจับเป็นการทุ่มงบประมาณที่สิ้นเปลือง
สำหรับข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติด ล่าสุด พบว่าการจับกุมยาเสพติดได้คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของทั้งหมด ขณะที่พบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ต้องขังเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน ซึ่งในตลาดปัจจุบัน มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 100-380 มิลลิกรัม มีสีต่างๆกัน. มีเครื่องหมายการค้าหายแบบ ได้แก่ ฬ ,ฬ 99, WY,99 ,รูปดาว , รูปพระจันทร์เสี้ยว โดยราคาตั้งแต่ 50-200 บาทมขึ้นกับแหล่งและปริมาณที่ซื้อ
ทั้งนี้ ข้อเสนอจากการประชุมนี้ ให้รื้อทิ้งวาทกรรมยาบ้า ป้อนองค์ความรู้ใหม่ให้เท่าทันยาบ้าและนำเสนอวิธีการที่ใช้ในต่างประเทศได้ผล โดยเสนอผลิตภัณฑ์ทดแทนในตลาด ให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้เมทแอมเฟตามีนต้องการ ได้แก่ ฤทธิ์ของยา รูปแบบและวิธีการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความพร้อมในการเสนอใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหายาเสพติด ว่า ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะแก้ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงผู้เสพ เพราะปัจจุบัน เมื่อยาบ้า ยังเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 ในวงการแพทย์จะไม่มีการนำมาใช้เพราะ ถือเป็นอันตราย แพทย์จะใช้ได้เฉพาะวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และกฏหมายปัจจุบันยังกำหนดให้ผู้เสพ กับผู้ติดมีความผิดอยู่ ทำให้ผู้เสพผู้ติด ไม่กล้าออกมาสู่การบำบัด
สำหรับแผนพัฒนาระบบบริหารรองรับการแก้ปัญหายาเสพติดของ สธ. วางแนวทางไว้ 3 ด้าน คือปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เอื้อต่อการนำ ผู้เสพเข้ารับบำบัด เพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง บำบัดฟื้นฟู และเพิ่มหน่วยบริการผู้เสพผู้ติด ในระดับตำบล โดยจะปรับใช้ โปรตุเกสโมเดล มาใช้กับบริบทของไทย.
.-สำนักข่าวไทย