กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – การใช้วิธีการฆ่าตัวตาย เพื่อจบปัญหาในกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น นับวันแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่พร้อมกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนรอบข้างจำเป็นต้องหมั่นสังเกต และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช้สิ่งที่เกิดกับตัวเองตัดสินคนที่กำลังมีปัญหา
ความเครียด ความกดดัน จากทุกทางที่ถาโถมเข้ามาในกลุ่มวัยรุ่น ส่วนใหญ่เข้มแข็งพอจัดการอารมณ์ร้ายได้สำเร็จ บ้างก็มีหลุดคิดที่อยากจะหายไปจากโลก แต่กับบางกรณีเมื่อความเครียดพุ่งถึงขั้นสูงสุด เหมือนในช่วงไม่กี่วัน มีข่าวนักศึกษาดับชีวิตสังเวยอารมณ์ร้าย
ประเทศไทยมีสถิติฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ยตกปีละกว่า 4,000 คน อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ที่มากกว่าถึง 3 เท่า และเมื่อแยกย่อยลงไปช่วงวัยรุ่น 10-19 ปี เฉลี่ยฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 150-160 คน กลุ่ม 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มากที่สุดกว่า 80%
ปัญหาหลักๆ มาจากความเครียดเรื่องการเรียน แรงกดดันจากครอบครัว ลามสู่กดดันตัวเอง หรือความรักที่ไม่สมหวัง แต่ปัจจุบันยังมีอีกหลายปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกมาก เช่น โรคซึมเศร้าที่มีให้เห็นบ่อยครั้ง ยาเสพติด ซึ่งในยุคนี้เกิดความเครียดได้ง่าย เพราะมีสื่อในมือที่นำไปสู่การเปรียบเทียบและเลียนแบบ
ส่วนสัญญาณที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น รวมถึงทุกกลุ่ม มักจะคล้ายๆ กัน คือ ประสบปัญหาชีวิต ปลีกวิเวก มักชอบพูดบอกลากับคนรอบข้าง แต่กับวัยรุ่นสมัยนี้ หากมีการระบายผ่านโซเชียล เพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด แพทย์แนะนำไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด
เมื่อสังเกตพบความผิดปกติ สิ่งที่ดีที่สุดในการเข้าไปช่วยเหลือ คือ เข้าไปพูดคุยอย่างเข้าใจ ไม่ใช้ไม้บรรทัดตัวเองไปวัด หรือตัดสินผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง
จิตแพทย์ชี้วิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ควรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามสังเกตพฤติกรรมนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง และ 2. เยาวชนทั่วไปที่ต้องเพิ่มทักษะชีวิต ให้รับมือกับปัญหาต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาหาได้ทุกเมื่อ. – สำนักข่าวไทย