กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – ในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการปรับแก้กฎหมายของป่าไม้ ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 78 ปี อนุญาตให้สามารถตัดไม้หวงห้าม 158 ชนิด และไม้หายากอีก 13 ชนิด ที่ปลูกในที่ดินของตัวเอง เพื่อนำไปขายหรือใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
สมศักดิ์ แก้วมณีทอง เจ้าของสวนป่า ที่ จ.ราชบุรี พาชมความร่มรื่นของไม้มีค่า อายุเกือบ 25 ปี บนเนื้อที่ของเขากว่า 140 ไร่ ซึ่งมีทั้งไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง มะค่า พะยูง เต็ง พวง สะเดา รวมถึงไม้หายากอีกนานาชนิด นอกจากความรักในธรรมชาติ เขาหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยสร้างรายได้เป็นเงินออมส่งต่อให้กับลูกหลาน แต่ที่ผ่านมายังติดขัดข้อกฎหมายของกรมป่าไม้ ไม่สามารถตัดและเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ได้
ในมุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็ลำบากใจเช่นกัน จากที่เคยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตัวเอง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายเปลี่ยน ก็ไม่สามารถอนุญาตให้พวกเขาตัดขาย หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้
ล่าสุดมีการปลดล็อกแก้กฎหมายป่าไม้ที่บังคับใช้มากว่า 78 ปี จากเดิม “ไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน และไม้พะยูง ไม่ว่าขึ้นอยู่ในที่ใดในราชอาณาจักร ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น” ปรับแก้เป็น “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” โดยอนุญาตให้ตัด “ไม้หวงห้าม” 158 ชนิด และ “ไม้หายาก” อีก 13 ชนิด ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่ปลูกในที่ดินเอกชนและที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ทั้งโฉนด น.ส.3 ก, ใบจอง ส.ค.1 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนคดีตัดไม้ในที่ดินตัวเองอีกนับสิบคดี ก็จะถูกนิรโทษกรรมให้ทั้งหมดเช่นกัน
นอกจากกฎหมายใหม่จะอนุญาตให้ตัดไม้หวงห้ามและไม้มีค่าไปขายหรือใช้ประโยชน์ได้แล้ว ต้นไม้เหล่านี้ยังเป็นเสมือนเงินออม และเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ได้อีกด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่าในที่ดินของเอกชนที่มีมากถึง 136 ล้านไร่ แทนการปล่อยให้รกร้าง ซึ่งจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563. – สำนักข่าวไทย