กรุงเทพฯ 22 ก.พ.-กลุ่ม ปตท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 62 เฉลี่ย 67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ด้านจีซี พร้อมผลิต ยูโร5 ทันทีหากนโยบายรัฐสนับสนุนชัดเจน ชี้เศรษฐกิจสหรัฐดี ส่งผลการลงทุนปิโตรเคมีต้นทุนสูงคาดสรุปโครงการได้ 4-5 เดือนข้างหน้า
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 62อยู่ที่ 65-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือเฉลี่ย 67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งยังเป็นปีที่ผันผวนของราคาน้ำมัน จากการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน การรวมตัวลดกำลังผลิตเพื่อตรึงราคาของกลุ่มโอเปกพลัส อย่างไรก็ตาม จากที่สหรัฐผลิตน้ำมันได้จากหินดินดานก็ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับตัวไม่สูงมาก โดยราคาจะอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ จากราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันและปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มไม่สูงขึ้น และอาจอ่อนต่อตัวลงก็คาดว่า แนวโน้มรายได้จากการขายปีนี้จะใกล้เคียงกับระดับ 5.15 แสนล้านบาทในปีก่อน โดยรายได้ที่ไม่ลดลงก็มาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากการเข้าซื้อธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์กรดบริสุทธิ์เทเรพาธิค (PTA) และธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเรฟทาเลต (PET) ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับทิศทางลงทุนบริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศเป็นหลัก วางแผนจะลงทุนราว 1.5 แสนล้านบาทในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในช่วง 3-4 ปี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่อง 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ และโครงการ Propylene Oxide (PO) / Polyols รวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่บริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอรายละเอียดของโครงการลงทุนโรงงานรีไซเคิลพลาสติก (Recycling Plant) ครบวงจร มูลค่าราว 2 พันล้านบาทต่อที่ประชุมคณะกรรมการเร็ว ๆ นี้ โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 4 หมื่นตัน/ปี แบ่งเป็น rPET 3 หมื่นตัน/ปี และ rHDPE 1.5 หมื่นตัน/ปี ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากยุโรปที่จะเข้ามาถือหุ้น 30-50% คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน และแล้วเสร็จในปลายปี 63
ส่วนความคืบหน้าโครงปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ คาดว่าการตัดสินใจลงทุนจะมีความชัดเจนในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นทำให้ค่าก่อสร้างมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้และแนวทางการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังมองว่าการลงทุนโครงการดังกล่าวยังมีความน่าสนใจ เพราะราคาวัตถุดิบในหสรัฐฯยังไม่แพง และพันธมิตรอย่าง Daelim Industrial Co.,Ltd. (DAELIM) จากเกาหลีก็ยังพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกันอยู่
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายภาครัฐที่ให้เร่งผลิตน้ำมันน้ำมันมาตรฐาน EURO 5 นั้น ปัจจุบันโรงกลั่นพร้อมผลิต EURO 5 โดยไม่ต้องลงทุนใหม่เพิ่มเติม แต่เนื่องจากต้นทุนสูง จึงต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ ว่าจะสนับสนุนอย่างไร โดยโรงกลั่นของบริษัทผลิตน้ำมันดีเซลราว 450 ล้านลิตร/เดือน หรือกว่า 20% ของความต้องการใช้น้ำมันดีเซลราว 1,800 ล้านลิตร/เดือน. – สำนักข่าวไทย