กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – บอร์ด ปตท.สั่งทบทวนร่วมทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง-สนามบินอู่ตะเภา พร้อมสนับสนุนอีอีซี ลงทุน 5 ปี 2.64 แสนล้านบาท ล่าสุดบอร์ดอนุมัติลงทุนโครงการอีอีซีไอแล้ว 2,500 ล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.สนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี ) โดยใน 5 ปี (2562-2566 ) มีโครงการที่จะลงทุน 11 โครงการ มูลค่ารวม 264,226 ล้านบาท เช่น โครงการอีอีซีไอ 4,100 ล้านบาท โดยวานนี้ทาง บอร์ด ปตท.ได้เห็นชอบให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว 2,500 ล้านบาท โครงการคลังแอลเอ็นจีมาบข่า 31,912 ล้านบาท โครงการขยายกำลังผลิตของ โรงกลั่นไทนออยล์ 128,743 ล้านบาท โครงการของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (จีซี) โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์ 14,400 ล้านบาท โครงการ Polyol/PU 15,500 ล้านบาท โครงการของ บมจ.ไออาร์พีซี ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการปรับปรุงโรงกลั่น เพื่อให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ให้เร็วขึ้นตามนโยบายภาครัฐ 7,890 ล้านบาท และโครงการขยายกำลังผลิตพาราไซลัน 41,200 ล้านบาท
ส่วนโครงการหลักในอีอีซี ที่ ปตท.พิจารณาก่อนหน้านี้ว่าจะเข้าร่วมการลงทุนหรือไม่นั้น วานนี้ (21 ก.พ.) ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ขอให้พิจารณาความเหมาะสม ความเสี่ยง ความเชี่ยวชาญของ ปตท.ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ ได้แก่ โครงการท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งแนวทางอาจจะลงทุน ไม่ลงทุน หรือเข้าไปจับมือกับผู้ที่ชนะประมูลโครงการจากภาครัฐก็ได้ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทาง ปตท.ก็คงต้องดูว่า ใครจะชนะประมูล และมีความเหมาะสมในการเข้าไปร่วมทุนหรือไม่
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมระหว่างรัฐ-เอกชน (PPP) 55,400 ล้านบาท ที่กลุ่ม ปตท.ร่วมกับ บมจ.กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (กัลฟ์) ในสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 30 ต่อ 70 นั้น ก็เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐต้องการให้เอกชนร่วมลงทุน ประกอบกับ ปตท.มีการลงทุน 2 คลังแอลเอ็นจีอยู่แล้ว (มาบตาพุด,หนองแฟบ) รวม 19 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 2,600-2,700 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน เท่ากับครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ก๊าซฯ ในปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่โตประมาณร้อยละ 1 ต่อปี ดังนั้น การร่วมมือกับกัลฟ์ซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ จึงเป็นการร่วมทุนกับเอกชนที่เหมาะสมกว่าผู้อื่นที่ไม่มีความต้องการใช้ก๊าซ
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้คาดการนำเข้าแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี โครงการซื้อก๊าซจากแหล่งโมซัมบิก 2.6 ล้านตันต่อปีนั้น คงจะไม่เร่งรีบต้องพิจารณาทั้งตลาด ความเสี่ยง และอื่น ๆ เพราะหากเร่งลงนามในสัญญา แล้วตลาดไม่รองรับ ปตท.ก็ต้องจ่ายค่า TAKE OR PAY ซึ่งจะเป็นภาระต่อองค์กร อย่างไรก็ตาม โครงการโมซัมบิกซึ่ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ถือหุ้นร้อยละ 8.2 ก็มีลูกค้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซสูงทั้งญี่ปุ่น อินเดีย จีน ทำให้โครงการเดินหน้าไปด้วยดี
สำหรับผลดำเนินงานของ ปตท.ปี 2561 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17) และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11) คิดเป็นกำไร 4.15 บาทต่อหุ้น กำไรลดลงจากการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันที่มีการจ่ายภาษี 6,000 ล้านบาท, สิทธิประโยชน์ BOI ลดลง , ค่าเงินบาทแข็งค่า, ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น เช่น จากการที่ PTTEP ซื้อบงกชเพิ่มร้อยละ 22.22
คณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,258 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 45,962 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท. สำหรับผลประกอบการปี 2561 รวมประมาณ 82,220 ล้านบาท สูงกว่าปี 2560 ที่นำเงินส่งรัฐรวม 71,281 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้นจะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม. -สำนักข่าวไทย