สงขลา 21 ก.พ. – จ.สงขลา เตรียมผลักดัน “มะม่วงเบา” อ.สิงหนคร เป็นพืชอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสงขลา สร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 100 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มเพิ่มพื้นที่ปลูก เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด
นายประทีป จันทโร เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเบา หมู่ 5 บ้านนาออก ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ยึดอาชีพทำสวนมะม่วงเบาต่อจากบรรพบุรุษมานานเกือบ 15 ปีแล้ว เกือบทุกวันจะลงสำรวจสวนมะม่วง เพื่อสังเกตโรคแมลงที่จะทำลายผลผลิต ขณะนี้กำลังออกผลอ่อนรอเก็บเกี่ยวในเดือนหน้านี้
คุณประทีป บอกว่า มะม่วงเบามีต้นกำเนิดใน อ.สิงหนคร พบต้นที่มีอายุมากที่สุดกว่า 100 ปี ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ภูมิประเทศเป็นเมือง 2 ทะเล คือ ติดชายฝั่งทะเลและทะเลสาบสงขลา ทำให้ดินมีแร่ธาตุสมบูรณ์ มะม่วงจึงมีรสชาติดีแตกต่างจากการนำไปปลูกในพื้นที่อื่น
มะม่วงเบาของแท้ อ.สิงหนคร จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสเปรี้ยวกำลังดี ไม่เปรี้ยวจัด เนื้อกรอบ เปลือกบาง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกว่า “มะม่วงสงขลา” แต่จะมีการปลูกมากในคาบสมุทรสทิงพระ โดยเฉพาะ อ.สิงหนคร มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 2,000 ไร่
การปลูกมะม่วงเบาต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้นราว 10 เมตร เพื่อให้กิ่งก้านแผ่ทรงพุ่มได้กว้าง 3 ปีให้ผลผลิต ศัตรูพืชที่สำคัญคือ เพลี้ยจักจั่นในช่วงที่มะม่วงออกดอก หนอนเจาะผล และหนอนเจาะลำต้น ที่สวนจะใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งและเผาทำลาย หรือใช้ยาเส้นอุดรูเมื่อพบหนอนเจาะลำต้น เพื่อป้องกันโรคแมลง มะม่วงเบาจะให้ผลผลิตปีละ 2 ช่วง คือ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน และเดือนกันยายน-ตุลาคม ทำให้ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงต้น บำรุงดอกต่อเนื่อง ผลผลิตต่อต้นต่อปีราว 400-600 กก. ราคาหน้าสวน อยู่ที่ กก. ละไม่ต่ำกว่า 30-80 บาท ปัจจุบันคุณประทีปยังรวมกลุ่มเกษตรกรกว่า 20 คน หรือกว่า 100 ไร่ ทำเกษตรแบบปลอดภัย ได้รับการรับมองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการอย่างมากและไม่เพียงพอจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้รวมกลุ่มแม่บ้านนำมะม่วงเบาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งน้ำมะม่วงเบา มะม่วงแช่อิ่มะมวงกวน แยมมะม่วง สร้างรายได้งดงาม
สำนักงานเกษตรอำเภอสิงหนคร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา เตรียมส่งเสริมให้เป็นพืชอัตลักษณ์สงขลา และเป็นพืช GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเร่งให้ความรู้เกษตรกร ผลักดันให้เกิดแปลงต้นแบบในพื้นที่ ถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัย สู่เกษตรกรตั้งแต่การดูแลสวน การจัดการธาตุอาหารให้กับต้นพืช ไปจนถึงการแปรรูป และการตลาด พร้อมจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรมะม่วงเบา เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลุก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป. – สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376241.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376324.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376325.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376444.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376457.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713376464.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/02/1550713468340.jpg)