กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
(RATCH) รอลุ้นประมูล 2 โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก
พร้อมวางเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)
กล่าวว่า โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้
ซึ่งบริษัทถือหุ้นทั้งหมด ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่อยู่ใน จ.ราชบุรี จะหมดอายุในปี
2563 นั้น ทางกระทรวงพลังงานจะไม่ต่ออายุในส่วนนี้ให้ โดยจะเป็นการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตกเข้ามาทดแทน
2 โรง ๆ ละ 700 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบในปี 2566 และ 2567
ซึ่งกำลังผลิตจะไปช่วยเสริมความมั่นคงในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โรงไฟฟ้าใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ
ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
อยู่ระหว่างเร่งสร้างระบบส่งเพื่อส่งไฟฟ้าไปใช้ในภาคใต้มากขึ้น
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 ทางบริษัทยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด
จากที่มีข่าวว่าบริษัทแสดงความสนใจ
และคาดว่าโกลว์จะตัดสินใจว่ารายใดจะเป็นผู้รับซื้อภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย
ใน สปป.ลาว ที่มีปัญหาเขื่อนย่อยแตกนั้น ยังคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบหรือ COD
ได้ในปลายปี 2562 จากกำหนดเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ล่าสุดอยู่ระหว่างรอให้รัฐบาลลาวสรุปสาเหตุก่อนที่จะเริ่มดำเนินการอย่างไรต่อไป
แต่โครงการดังกล่าวมีประกันครอบคลุมทั้งการประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา
การประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
และการประกันภัยจากการเริ่มดำเนินงานล่าช้า
“บริษัทกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าปี
2566 ที่ 10,000 เมกะวัตต์นั้น เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยมีความคาดหวังจะได้ดีล M&A ที่ COD แล้วเข้ามาชดเชยรายได้ที่ลดลงของโรงไฟฟ้าเก่า
หรือโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใกล้จะหมดอายุ” นายกิจจา กล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 7,639.12
เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ แล้ว 6,863.25 เมกะวัตต์ ขณะที่ปีนี้วางเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเป็น
8,960 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,321 เมกะวัตต์
โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากโรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งคาดหวังการได้รับโอกาสผลิตไฟฟ้า
IPP โรงไฟฟ้าตะวันตกใหม่ที่รัฐบาลจะเปิดประมูล 2
โรงแทนไตรเอนเนอจี้ รวมถึงยังคาดหวังดีลซื้อกิจการ (M&A) ในต่างประเทศ
1-2 โครงการ ขณะเดียวกันปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่จะ
COD เพิ่มขึ้น 179.73 เมกะวัตต์ มาจาก 3 โครงการ
ได้แก่ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ในออสเตรเลีย ,โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น
และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว
ตลอดจนยังมองโอกาสการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ
ปี 2561-2580 (PDP2018)
นอกจากนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เทียบเท่าที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ยังจะมาจากระบบโครงข่ายสื่อสาร
คมนาคมขนส่งทางรางด้วย โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับบมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT)
ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทยและมองโอกาสที่จะขยายไปยัง
สปป.ลาวด้วย รวมถึงความร่วมมือของกลุ่ม BSR ที่มีผู้ร่วมทุนคือบริษัท
,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์
คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู
แต่ก็มีโอกาสในโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลใหม่ ๆ ด้วย ตลอดจน BSR ยังมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการบินเพื่อร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา
และเมืองการบินภาคตะวันออก
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 บริษัทมีกำไร 5,590
ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.5 จากปี 2560 หากไม่นับรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
บริษัทมีกำไร 6,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากปี 2560 สำหรับรายได้รวม 45, 000
ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย