กรุงเทพฯ31 ส.ค.-‘นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติสับปะรดสี’ ของนักเรียนจากรร.สุราษฎร์พิทยา คว้ารางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยรักษ์น้ำ ‘The 2016 Stockholm Junior Water Prize’ เดินทางกลับไทย วันศุกร์นี้
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รายงานจากประเทศสวีเดนว่า จากที่สสวท. ได้จัดประกวดผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ และได้จัดส่งทีมชนะเลิศในปี 2559 คือ รร.สุราษฎร์พิทยา เข้าร่วมการประกวด Stockholm Junior Water Prize ที่เมืองสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน ในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคมถึง 1กันยายน 2559 เรื่อง “นวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสี” (Natural Innovative Water Retention Mimicry Bromeliad (Aechmea aculeatosepala) ผลงานของ น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประภา น.ส.ธิดารัตน์ เพียร และ น.ส.กาญจนา คมกล้า โดยมีนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานั้น
ผลปรากฏว่า ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นปีแรกของประเทศไทย และได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าฟ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดน ประทานรางวัลในงานดังกล่าว คณะนักเรียนจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 เวลา 05.50 น.เที่ยวบิน TG961
สำหรับผลงานวิจัย“นวัตกรรมการกักเก็บน้ำโดยเลียนแบบสับปะรดสี” เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สังเกตจากรูปทรงของสับปะรดสีที่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมผู้วิจัยได้เลือกสับปะรดสีพันธุ์ เอคมี อะคูลีโทเซพาลา (Aechmea aculeatosepala) เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เก็บกักน้ำได้ดี โดยจากการศึกษาลักษณะทางกายภาพของต้นสับประรดสีพันธุ์ดังกล่าว พบว่า ส่วนดักจับน้ำที่สำคัญมีหลายส่วน ได้แก่ แผ่นใบ ที่มีขอบใบทั้งสองข้างบางกว่าบริเวณกลางใบทำให้แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปตัวยูเหมือนรางน้ำ น้ำไหลไปกักเก็บที่แอ่งระหว่างกาบใบ หนามเล็กๆ บริเวณรอบใบ บิดเป็นมุม 50 องศากับขอบใบ ช่วยดึงน้ำที่อยู่ห่างจากขอบใบในระยะ 2 มิลลิเมตร ให้เข้ามาในใบได้ ผิวใบด้านหน้าใบและหลังใบช่วยให้น้ำไหลลงไปรวมกันที่รางรับน้ำ เนื่องจากแรงยึดติด (Adhesive force) ระหว่างน้ำกับผิวใบมากกว่าแรงเชื่อมแน่น (Cohesive force) ของน้ำ
นอกจากนี้ ส่วนกักเก็บน้ำของสับปะรดสีเอคมี อะคูลีโทเซพาลา เกิดจากใบเรียงเหลื่อมซ้อนกัน กาบใบด้านล่างจะกว้างออกขอบใบบาง มีลักษณะเป็นแอ่งกักเก็บน้ำทรงกรวยตรงกลางลำต้น และระหว่างซอกใบทุกใบก็สามารถเก็บน้ำได้ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าภาชนะทรงกรวยที่มีขนาดเท่ากันถึง 17.28 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาการกักเก็บน้ำของสับปะรดสีพันธุ์ เอคมี อะคูลีโทเซพาลา และจากการสังเกตพบว่าในเวลากลางคืนจะมีหยดน้ำเกาะตามแผ่นสังกะสีเคลือบอะลูมิเนียมมุมหลังคาบ้าน จึงนำมาเป็นต้นแบบสร้างอุปกรณ์ในการกักเก็บน้ำเลียนแบบสับปะรดสี โดยประดิษฐ์จากแผ่นอะลูมิเนียม เนื่องจากแผ่นอะลูมิเนียมมีความจุความร้อนน้อย ในช่วงเวลากลางคืนเมื่อไอน้ำในอากาศมากระทบจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้ง่าย
เมื่อนำชุดอุปกรณ์นี้ไปใช้จริงโดยติดตั้งบนต้นยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อสายน้ำเกลือปักลงในดินห่างจากโคนต้น 1เมตร พบว่า ความชื้นในดินที่ใช้ชุดอุปกรณ์จะมีค่าสูงกว่าความชื้นในดินที่ไม่ใช้ชุดอุปกรณ์ และไม่รดน้ำ 17.65 เปอร์เซ็นต์ และมีความชื้นในดินใกล้เคียงกับการรดน้ำตามปกติ ซึ่งน้อยกว่ารดน้ำปกติ 9.80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ต้นยางพาราที่ใช้ชุดอุปกรณ์สามารถให้ผลผลิตสูงกว่าไม่ได้ใช้ชุดอุปกรณ์ 57.50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยราคาต้นทุนชุดละ 25 บาท เมื่อนำไปใช้กับต้นยางพาราเพียง 6 วัน ก็จะคุ้มราคาทุน
กลุ่มนักเรียนผู้พัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำงานวิจัยเรื่องนี้เพราะต้องการหาแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในการเกษตร เพราะโมเดลนี้สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้แม้สภาวะแห้งแล้ง และจะปรับปรุงพัฒนางานให้ดีขึ้น สามารถกักเก็บน้ำให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้ผลงานที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนำไปเผยแพร่สู่ชุมชน ให้ชาวบ้านได้ใช้โมเดลกักเก็บน้ำนี้ เพื่อทำให้ดินมีความชุ่มชื่นมากยิ่งขึ้น .-สำนักข่าวไทย