กทม. 9 ก.พ.-หลังจากเกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย นักวิชาการด้านการเมือง วิเคราะห์ว่า จากนี้ไปบรรยากาศการเลือกตั้งจะดีขึ้น เพราะทุกฝ่ายได้มีบทเรียนจากการกระทำที่เกิดขึ้น แต่ทิศทางการเมืองไทยเรื่องแบ่งขั้วหรือแบ่งสีอาจจะกลับมาอีกครั้ง
ความเคลื่อนไหววันสุดท้ายของการสมัครรับเลือกตั้ง หลายเหตุการณ์ต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งไม่เพียงแต่อยู่ในความสนใจของคนไทยเท่านั้น แต่ยังถูกจับจ้องจากสายตาของคนทั่วโลกด้วย
เพราะทันทีที่พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายกับสังคม มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งยังการตั้งคำถามชวนสงสัยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเข้าข่ายขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายหรือไม่ โดยมีการนำไปเทียบเคียงกับระเบียบของ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ห้ามผู้ใดนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2543 ที่ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือจากการแต่งตั้ง ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง
ที่สุดแล้วเมื่อมีประกาศพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกอย่างกลับชัดเจน ยุติความขัดแย้งและสิ้นข้อสังสัยในช่วงข้ามคืน
นักวิชาการมองว่า ต้นเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากความพยายามของนักการเมืองที่ต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยใช้ความได้เปรียบในตัวบุคคล ไม่คำนึงถึงความรู้สึกและบริบทของสังคมไทย จึงทำให้เกิดปัญหา แต่เมื่อมีพระราชโองการแล้วสถานการณ์ได้คลี่คลายลง ทั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงคือความรู้สึกของคนที่ถูกปลุกที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วทางการเมืองชัดเจนจะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง กลับสู่วังวนเดิม
นักวิชาการชื่อดัง ยังประเมินว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง แม้จะยังไม่สามารถวัดได้จากคะแนนเสียง แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกของคน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้บรรยากาศในช่วงเลือกตั้งจะดีขึ้น จากบทเรียนที่พรรคการเมืองได้รับ ในเรื่องสำคัญที่ไม่กระทำการณ์ใดๆ นอกเหนือความคาดหมายกระทบจิตใจคน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งที่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับจากนี้ยังมีเวลาอีกว่า 43 วัน ที่คอการเมืองยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย