ศธ. 8 กพ..-หมอธีเผย ให้ตัดเกณฑ์รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อตามที่ป.ป.ช.เสนอ เพื่อลดแป๊ะเจี๊ยะอาจเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด เเต่ย้ำต้องโปร่งใสเเละตรวจสอบได้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กับที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานชุดใหม่ โดยมีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เเละนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้มาต้อนรับบอร์ดชุดใหม่ โดยไม่ได้เน้นย้ำนโยบายอะไรเป็นพิเศษ เเต่อยากให้ทำงานกันเป็นระบบ ส่งเสริมกันเพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันที่ประชุมมีการหารือและพิจารณาเพื่อปรับปรุงประกาศ สพฐ.เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสพฐ.ปีการศึกษา 2562 ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสพฐ. เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันคือการให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อนั้น เบื้องต้นกระทรวงได้พูดคุยกับรัฐบาลเเล้วว่าอาจเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณี ผู้มีอุปการะคุณ เช่นมอบที่ดินสร้างโรงเรียน หรือบุตรหลานของบุคลากรในโรงเรียน เป็นต้น เเต่ทั้งหมดต้องตรวจสอบ โปร่งใสเเละอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง เเละฝากให้ผู้ปกครองรู้ไว้ว่า หากใครมาติดต่อว่าสามารถฝากลูกหลานหรือให้แป๊ะเจี๊ยะเข้าเรียนต่อนั้น ไม่เป็นความจริงเเละทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย
ส่วนกรณีข้อเสนองบประมาณรายหัว ที่ให้ประเมินจากความต้องการของนักเรียนจริงๆไม่ใช่ตามขนาดโรงเรียนนั้น เเนวคิดเรื่องนี้ดี เเละกระทรวงศึกษาคิดมาได้ระยะหนึ่ง เเต่ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีผลกระทบมาก ซึ่งวันนี้ที่ประชุมจะมีการหารือเพื่อนำเเนวคิดนี้มาใช้ให้ได้ ขณะที่ที่มีนักวิชาการออกมาเเย้งว่า หลายมาตรการไม่ใช่มาตรการใหม่ เเต่เพียงแค่สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการนั้น ตนมองว่าที่ผ่านมาดำเนินการ เพราะปีที่ผ่านมาไม่มีกรณีแป๊ะเจี๊ยะเกิดขึ้น เเต่ปัญหาที่มันยังเกิดอยู่ เพราะต้นเหตุอาจยังไม่ได้แก้ให้ดีพอ ซึ่งหนึ่งในต้นเหตุคือเรื่องมาตรฐานการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งได้มอบให้บอร์ดกพฐ.ดูเเลกำกับโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ.-สำนักข่าวไทย