กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – อนุกรรมการกลั่นกรองนำเรือประมงออกนอกระบบสรุปจำนวนเรือกลุ่มที่รัฐจะจ่ายค่าชดเชยกลุ่มแรก 397 ลำ หลังรอมาตั้งแต่ปี 2558
วันนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองนำเรือประมงออกนอกระบบ โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมนายอรุณชัย เจริญ พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมงชี้แจงว่าจากการที่คณะอนุกรรมการเปิดให้เรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถทำประมงได้ต่อไปตามการกำหนดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับขนาดของน่านน้ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางทะเลมายืนยันตนภายในวันที่ 10 มกราคม 2562 พบว่าเรือที่สำรวจและขึ้นทะเบียนปี 2558 จำนวน 679 ลำ มีเจ้าของเรือมายืนยันสิทธิ์ขอรับค่าชดเชย 570 ลำ จากนั้นคณะทำงานตรวจสอบได้ดำเนินการตรวจสอบทั้งประวัติเจ้าของเรือและลำเรือ โดยเรือนั้นตรวจสอบ 2 ประเด็น คือ ตรวจสอบสภาพเรือ โดยใช้ภาพถ่ายปี 2558 รวบรวมโดยกรมเจ้าท่าและลงพื้นที่ตรวจสอบการมีอยู่จริงของเรือ สรุปว่าเรือกลุ่มแรกที่เข้าเกณฑ์จะได้รับค่าชดเชย คือ เรือไม้ 397 ลำ โดยประมาณการณ์งบประมาณไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมต้องพิจารณาแนวทางการเสนอ ครม. อนุมัติงบประมาณอีกครั้งเพื่อให้เจ้าของเรือได้รับประโยชน์สูงสุด
สำหรับเรือเหล็กมี 22 ลำ ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานพิจารณาอัตราค่าชดเชย แต่เจ้าของเรือบางรายยังเห็นว่าต่ำเกินไป จึงตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ เจ้าของเรือ และสมาคมประมงฯ เพื่อหาราคากลางที่เหมาะสม จึงเสนอขออนุมัติงบประมาณช่วยเหลือต่อไป
นายอรุณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเรือประมงที่เจ้าของไม่ประสงค์ประกอบอาชีพทำประมง 2,513 ลำ คณะทำงานตรวจสอบแบ่งกลุ่มและจัดลำดับความเร่งด่วนประมาณ 2,000 ลำ ที่เหลือจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งมีทั้งผู้ที่ประสงค์ขอรับค่าชดเชยและผู้ที่ประสงค์ให้รัฐช่วยประสานงานกับภาคเอกชนในต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายเรือ เนื่องจากว่าได้ราคาดีกว่า โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานกับสถานทูตประเทศที่ต้องการซื้อเรือ รวมถึงภาคเอกชนที่จะรับซื้อเรือและอำนวยความสะดวกออกใบรับรองแก่เรือประมงที่ต้องการขาย.-สำนักข่าวไทย