นครราชสีมา 31 ม.ค.-นักธรณีวิทยา ระบุโคลนผุดในที่นา อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา เกิดได้เองตามธรรมชาติ ระวังภาวะเป็นด่างสูง อาจระคายเคืองผิวหนัง
นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการติดตามปรากฏการณ์โคลนผุด ในที่นาของชาวบ้าน ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณขอบที่ราบสูงโคราช ทั้งในนครราชสีมา, เลย, หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ, สระแก้ว และขอนแก่น โดยลักษณะของดินบริเวณนี้จะอิ่มตัวจากน้ำใต้ดิน ประกอบกับน้ำมีแรงดันที่สูงมาก ดันน้ำขึ้นมาผสมกับดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีแร่ธาตุบางชนิดทำให้ดินขยายตัวได้ 5-30 เท่า ซึ่งแรงดันดังกล่าวดันดินโคลนขึ้นมาด้านบนผิวดินบริเวณที่เป็นรอยแยก โดยชั้นดินโคลนนี้จะลึกลง 2 – 3 เมตรจากพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ระยะนี้บริเวณดังกล่าวยังเสี่ยงอันตราย เพราะดินยังมีความอ่อนนุ่ม คล้ายโคลนดูด หากไม่ระวังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
สำหรับดินโคลนที่ผุดขึ้นมาจะมีคุณสมบัติความเป็นด่างสูง หรือ PH9 ขึ้นไป หากผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายไปสัมผัสโดยตรงอาจระคายเคืองผิวหนัง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพื้นที่เกษตรกรรม เพราะจะทำให้พืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เบื้องต้นสำนักทรัพยากรธรณีวิทยาเขต 2 ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างแล้ว ขณะที่วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยการลดแรงดันน้ำใต้ดินจุดนั้นๆ โดยการเจาะผิวดินจนถึงชั้นหินเพื่อระบายน้ำออกมาตามท่อ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและปรับสภาพให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์.-สำนักข่าวไทย