การเคหะฯ 20 ม.ค.-การเคหะแห่งชาติประสบความสำเร็จ ประชาชนสนใจจองสิทธิโครงการบ้านเอื้ออาทรในโครงการ ‘บ้านล้านหลัง’ของ ธอส.เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านราคา ที่ตั้ง คุณภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ได้นำโครงการที่อยู่อาศัยทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูมิภาค เข้าร่วมโครงการ “บ้านล้านหลัง” ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงาน หรือ ผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักในปี 2562 โดยนำโครงการที่อยู่อาศัยกว่า 141โครงการ 10,070 หน่วย ราคาเริ่มต้นเพียง 374,000 บาทมาเข้าร่วม และ ธอส.ได้เปิดให้จองสิทธิไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ฯพบว่าประชาชนไว้ใจเลือกที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติและจองสิทธิสินเชื่อกว่า 3,428 ราย
‘ให้ความสนใจโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านที่อยู่อาศัย เพราะได้มาตรฐานและมีคุณภาพในราคาที่สามารถรับภาระได้ รวมถึงยังมีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัย เพื่อสร้างครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข และที่สำคัญโครงการบ้านเอื้ออาทรยังตั้งในทำเลที่เหมาะสมและกระจายอยู่ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไว้รับรองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างแท้จริง โดย มีประชาชนให้ความสนใจจองสิทธิโครงการบ้านเอื้ออาทรในโครงการ บ้านล้านหลัง ในหลายโครงการ อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร รังสิต (คลอง 2) โครงการ เชียงใหม่ (สันป่าตอง) โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (บ้านฉาง 3) โครงการบ้านเอื้ออาทร ภูเก็ต (ถลาง เฟส 1) และโครงการบ้านเอื้ออาทร ยโสธร 2 (สำราญ)
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ธอส.ได้เปิดให้ผู้จองสิทธิ “สินเชื่อบ้านล้านหลังกับ ธอส.” ในกลุ่ม 59,000 ล้านบาทแรก จากยอดจองสิทธิสินเชื่อทั่วประเทศ 127,000 ล้านบาท ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 29 มี.ค.2562 ส่วนสิทธิที่เหลือกำหนดให้ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-28 มิ.ย.2562 และ ธอส.เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการภายในเดือน ม.ค.2562 เพื่อพิจารณาปรับสัดส่วนการให้สินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังใหม่ ภายใต้วงเงินเดิม 50,000 ล้านบาท โดยจะปรับสัดส่วนให้สินเชื่อกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือนจากเดิมกำหนดไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท และลดสัดส่วนสินเชื่อที่จะให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 25,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 10,000 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย