กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – เอกชนไทยหวังรัฐกำหนดกรอบดูแลธุรกิจไฟฟ้ารูปแบบไมโครกริดโดยเร็ว ชี้จะมีปริมาณมากเพียงใดขึ้นอยู่กับค่าไฟฟ้าและราคาระบบสำรองไฟฟ้า (แบตเตอรี่)
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.) กล่าวว่า จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะระบบสำรองไฟฟ้าและโซลาร์รูฟท็อป ทำให้เทคโนโลยีไฟฟ้าเป็นธุรกิจไมโครกริด คือ ผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือขายในพื้นที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สนพ.จึงได้ศึกษารูปแบบการดูแลรองรับเพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบที่เป็นระบบสมาร์ทกริดและไมโครกริด โดยปัจจุบันนี้การผลิตไฟฟ้าใช้เอง (ไอพีเอส) มีประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์แล้วและคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐควรเร่งกำหนดกรอบการดูแลไมโครกริดและสมารท์กริดให้ชัดเจน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งกรณีหากมีการดึงไฟฟ้าจากระบบใหญ่ไปสำรองไฟฟ้าให้ ในส่วนนี้ควรคิดค่าสำรองไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง (BACK UP) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคประชาชน
“ระบบไมโครกริดจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับทิศทางค่าไฟฟ้าของระบบใหญ่ในอนาคต หากมีราคาแพงขึ้นกว่าปัจจุบันและพลังงานทดแทน รวมทั้งระบบแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำลงก็จะทำให้ไมโครกริดเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งพาระบบใหญ่ในส่วนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบ็คอัพจากระบบรวม ” นายสุวัฒน์ กล่าว
นายศุภสิทธิ์ อัมราลิขิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท Full Advantage ในฐานะที่ปรึกษาโครงการร่างรูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริด กล่าวว่า ระบบต่าง ๆ ต้องศึกษาครอบคลุมถึงการดูแลการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนในไมโครกริด และการส่งไฟฟ้าซื้อขายนอกระบบไมโครกริดเชื่อมโยงมาในระบบใหญ่ของประเทศของ 3 การไฟฟ้า ในส่วนนี้จะต้องมีการคำนวณเรื่องการเชื่อมต่อสายส่งของระบบรวม ที่เรียกว่าwheeling charge ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องมากำหนดในส่วนนี้ โดยตามรูปแบบสมาร์ทกริด ตามนโยบายของรัฐบาลจะเกิดขึ้นสำหรับโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) จ.ชลบุรี ในปี 2564. -สำนักข่าวไทย