ภูเก็ต 4 ก.ย.-เกษตรสร้างชาติ วันนี้พาไปดูตัวอย่างการทำเกษตรแนวใหม่ที่ จ.ภูเก็ต ของเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่เน้นทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ควบคู่ไปกับการทำร้านอาหารผักสลัดจากฟาร์มที่ปลูกเอง
ฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์บนเนื้อที่ 1 ไร่เศษแห่งนี้เป็นของคุณสุทธิโชค ทศพรชัยพฤกษ์ วิศกรหนุ่มที่ผันตัวเองมาทำการเกษตรเมื่อราวปี 2555 ปัจจุบันไม่เพียงผลผลิตจากฟาร์มจะถูกส่งขายให้กับบรรดาโรงแรมและร้านอาหารอินเตอร์แบรนด์ทั่วจังหวัด เกษตกรท่านนี้ยังมีวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับผักจากฟาร์ม ด้วยการเปิดร้านอาหารสลัด เน้นเมนูผักสดๆ มาเป็นจุดขาย จากฟาร์มสู่จานของผู้บริโภค ทำให้วันนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักไฮโดรโปนิกส์ได้ในราคาที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว
เนื่องจากการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มีให้เลือกหลายระบบ ดังนั้น คุณสุทธิโชคบอกว่าปัญหาสำคัญของเกษตกรมือใหม่ที่เพิ่งหันมาทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์คือ การต้องตัดสินใจเลือกใช้ระบบให้มีความเหมาะสมกับชนิดของผักที่ปลูก หากเป็นผักสลัดควรเลือกใช้ระบบ NFT หรือการปลูกที่ให้รากของพืชแช่อยู่ในสารละลายโดยตรงความลึกราว 3 มิลลิเมตร วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะได้ผลดี ใช้น้ำน้อย ยังช่วยให้เกษตกรสามารถปลูกผักสลัดได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ต้องเสียเวลาในการื้อระบบใหม่ แต่ก็มีข้อเสียเรื่องของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่ค่อนข้างสูง เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เงินลงทุนราว 600,000-800,000 บาท
ทั้งนี้ แม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะมีแนวโน้มความต้องการผักไฮโดรโปนิกส์ที่เพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรท่านนี้ยังมองว่ามีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก หากผู้ลงทุนไม่ศึกษาตลาดให้มีความชัดเจนมากพอ ดังนั้น การศึกษาและทำความเข้าใจกับตลาดก่อนลงมือทำจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทคนิคการปลูกอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ.-สำนักข่าวไทย