กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – ตลาดหลักทรัพย์ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,587.63 จุด ลดลง 2.87 จุด หรือร้อยละ0.18 มูลค่าการซื้อขาย 53,524.26 ล้านบาท
การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งไซด์เวย์เช่นเดียวกับตลาดภูมิภาค โดยดัชนีฯ แตะจุดสูงสุดที่ 1,599.10 จุด และแตะจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,579.20 จุด
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ แกว่งตัวเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย โดยดัชนียังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ จากมีแรงขายทำกำไรออกมา และได้ปรับตัวลงมา เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่นักลงทุนยังติดตามดู โดยเฉพาะการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่สิ้นสุดลงไปนั้น แต่ยังไม่เห็นถึงประเด็นเชิงบวก และการลงมติต่อร่างข้อตกลงแผนการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของรัฐสภาอังกฤษ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ รวมถึงปัญหาการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากข่าวเฉพาะตัวของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หลังทำสัญญาระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ส่วนใหญ่และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน คิดเป็นมูลค่า 9,500 ล้านบาท กับทางบมจ.กสท โทรคมนาคม ส่งผลทำให้หุ้น DTAC ปรับตัวลงแรง และกดดันต่อหุ้นกลุ่มสื่อสารตัวอื่น จากความกังวลว่าอาจมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับตัวลงค่อนข้างมาก แม้ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่หากมองประเด็นความกังวลการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ KBANK ในไตรมาส 4/61 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ฯ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ NPL จะเพิ่มขึ้นในทุกไตรมาส แม้ KBANK จะมีการเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการเลือกเก็บ NPL บางส่วนไว้เพื่อบริหารเอง จากความเชื่อที่ว่าจะได้เงินกลับมามากกว่าและยังรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ ซึ่งอาจทำให้ NPL ของ KBANK เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดย KBANK ก็ได้ตั้งสำรองหนี้ฯไว้ได้เพียงพอแล้ว และ NPL ที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ในกรอบที่รับได้ โดยคาดว่าไตรมาส 4/61 NPL อยู่ที่ร้อยละ 3.4 และต้องรอดูผลประกอบการอีกทีจะเป็นอย่างไร
สำหรับกำไรของ KBANK งวดไตรมาส 4/61 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากไตรมาสที่แล้ว จากผลของการบันทึกค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติของทุกปี แต่จะเติบโตร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนทั้งปี 61 ก็คาดว่ากำไรจะเติบโตร้อยละ 10 โดยคาดมีกำไรสุทธิ 37,900 ล้านบาท
ประเภทนักลงทุน สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 2,023.50 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 632.58 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 902.47 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 488.45 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย