อสมท 9 ม.ค.- ภาครัฐ เอกชน เฮ! อียูปลดใบเหลืองประมงไทย ด้านชาวประมงตัวจริงไม่ดีใจ อยากเห็นรัฐผ่อนปรนกฏหมายเข้มงวด
โดยอียูได้เพิกถอนประเทศไทย จากกลุ่ม “ประเทศที่ถูกเตือน” ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU ซึ่งย่อมาจาก Illegal, Unreported and Unregulated Fishing เป็นการยอมรับความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม แถลงการณ์ของอียู ระบุว่ารับทราบถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องในระบบกฎหมาย และการบริหารการประมงของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีมติยก “ใบเหลือง” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2558 ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ยกระดับการกำกับดูแลกิจการประมงของไทย ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศมี 6 กรอบที่สำคัญ ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการจัดการกองเรือ การติดตามควบคุมเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมายและด้านแรงงาน ส่งผลให้ไทยหลุดเรื่องการมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยประเทศไทยได้ประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในกิจการประมง (C188) ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันนี้
ในวันนี้ภาครัฐและเอกชน ทั้งต่างออกมาแสดงความยินดีเรื่องนี้ โดยมองว่าเป็นความร่วมมือจนไทยหลุดพ้นใบเหลือง ไปสู่สถานะปกติ หรือใบเขียว เพราะ หากไม่ถูกปลดใบเหลือง แล้วก้าวไปสู่ใบแดง นั่นหมายถึงจะกระทบอย่างหนัก เพราะสินค้าประมงทุกประเภทที่จับโดยเรือที่ชักธงไทยจะถูกระงับการนำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ยกเว้นรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้น เช่น สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง
ซึ่งมูลค่าการส่งของของอุตสาหกรรมการประมงของไทยสูงถึงราวกว่า 1.1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามหลังถูกปลดใบเหลือง เอกชนมองว่าจะส่งออกได้มากขึ้น เช่น กลุ่มอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง คาดว่าจะส่งออกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2-3 มีมูลค่าประมาณ 89,000 ล้านบาท กลุ่มอาหารสำเร็จรูปคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5 มูลค่าส่งออกกว่า 190,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกสินค้าทูน่า คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 จากกว่า 82,000 ล้านบาทปีที่แล้ว มาเป็น 110,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการไขปัญหาของภาครัฐที่สำเร็จทำให้มีปลามากขึ้นและตัวใหญ่มากขึ้น
แต่ในส่วนชาวประมงในไทย ทั้งที่ระนอง และสมุทรสาคร ต่างพูดไปในทางเดียวกันว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์ จากการปลดล็อกใบเหลืองไอยูยูครั้งนี้ เพราะสภาพความเป็นจริงคือ ชาวประมง ได้พยายามดำเนินการให้ถูกต้องตามที่รัฐบาลกำหนด เช่นเรื่องแรงงาน เรื่องอุปกรณ์ ขั้นตอนในการเข้า-ออก ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มีเรือจำนวนมากที่ต้องหยุดทำการประมงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยที่ระนองมีเรือประมงมากกว่า 300 ลำ ได้หยุดเรือไปแล้ว 126 ลำ ชาวประมงต้องการขายเรือและรอการชดเชยจากภาครัฐ ชาวประมงหลายคนขอให้ รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนการเข้มงวดทางกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าจะพิจารณาทบทวนกฎหมายในเร็วนี้.-สำนักข่าวไทย