สถาบันพระปกเกล้า 4 ม.ค.-สถาบันประปกเกล้า เปิดผลสำรวจประชาชน พบคนไทยตื่นตัวเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับผู้นำที่พรรคการเมืองชูนั่งนายกฯ และให้ความสำคัญกับนโยบายลดลง
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แถลงผลการสำรวจความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ต่อ “การรับรู้ เกณฑ์การตัดสินใจ และการยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชน” ตามโครงการ KPI Election Watch ว่า จากการสำรวจความเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-30 ธันวาคม 2561 บนพื้นฐานที่คาดว่าจะเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,540 ตัวอย่าง อายุ 18 ปีขึ้นทั่วประเทศ พบว่าการตัดสินใจของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทราบว่ามีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่จะสะท้อนการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ,ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการสำรวจครั้งแรก ประชาชนจะให้ความสำคัญที่นโยบายพรรค มาเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 41.9 และให้ความสำคัญกับผู้นำน้อยสุด เพียงร้อยละ 8 แต่เมื่อรับทราบข้อมูลแล้ว พฤติกรรม หรือเกณฑ์ในการตัดสินใจของประชาชนเปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับตัวผู้นำเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ถึงร้อยละ 16.5 และให้ความสำคัญกับตัวนโยบายลดลง
นายวุฒิสาร กล่าวด้วยว่า ประชาชนเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 53.5 ยังไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และมีค่อนข้างเชื่อมั่น และเชื่อมั่นอย่างมาก ร้อยละ 46.5 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับในผลการเลือกตั้งครั้งนี้อันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.6 คือ กกต.ต้องทำหน้าที่อย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยุติธรรม ขณะที่ร้อยละ 11.6 ระบุว่าผลการเลือกตั้งตรงตามที่ประชาชนเลือก สะท้อนความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่ร้อยละ 10.6 ระบุว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก การมีส่วนร่วมของประชาชน และร้อยละ 61 ระบุว่า ความเป็นกลางของรัฐบาล ส่วนสำคัญที่อาจทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับผลในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 31 ระบุว่า การทุจริต มีการโกงการเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 18.1 ระบุว่าการซื้อสิทธิขายเสียง แจกเงินหรือสิ่งจูงใจ เพื่อชนะการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.5 ระบุว่าการใช้อำนาจหรืออิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้ง และร้อยละ 4.2 ระบุว่าพรรคการเมืองแข่งขันแบบเอารัดเอาเปรียบ
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่มั่นใจว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่ ๆ คือ ภาคเหนือร้อยละ 93.8 รองลงมา ภาคใต้ร้อยละ 92.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 91.8 ภาคกลางและภาคตะวันออกร้อยละ 82.4 และเป็นที่สังเกตว่าคนกรุงเทพฯ กลับมีความมุ่งมั่นที่จะไปใช้สิทธิน้อยสุด ร้อยละ 59.8 ทั้งที่เป็นกลุ่มเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากที่สุด และกลุ่มที่มุ่งมั่นจะไปใช้สิทธิมากสุดมีอายุช่วง 46-60 ปี
ด้านนายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 52.6 หรือเกินครึ่ง สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่ 8 คะแนนจาก 10 คะแนนขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 8.7 เท่านั้นที่สนใจการเลือกตั้งต่ำกว่า 5 คะแนน แต่เป็นที่สังเกตว่าคนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจการเลือกตั้งน้อยกว่าภาคอื่น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสนใจเลือกตั้งสูงสุดที่ 7.81 คะแนน และผู้ชายมีความสนใจมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ข้าราชการให้ความสนใจการเลือกตั้งมากสุดที่ ร้อยละ 7.78
ส่วนช่องทางในการติดตามข่าวสารการเมืองนั้น นายสติธร กล่าวว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 57.4 ติดตามข่าวสารการเมืองทางโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 26 ระบุว่าติดตามทางอินเทอร์เน็ต/โซเซียลมีเดีย ขณะที่ร้อยละ 6.6 ติดตามผ่านการพูดคุยกับคนอื่น ๆ และมีเพียงร้อยละ 3.6 ติดตามทางหนังสือพิมพ์ ส่วนการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พบว่าประชาชน ร้อยละ 61.4 ทราบว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตมีจำนวน 350 คน ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 67.5 ทราบว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน
อย่างไรก็ตาม นายวุฒิสาร กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพัฒนาการของการรับรู้ของประชาชนมีมากขึ้น ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจะทำการสำรวจอีก 3 ครั้งก่อนการเลือกตั้ง โดยจะมีการเปิดเวทีเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยในเรื่องที่อยากเห็นจากพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองนำสิ่งเหล่านี้ไปทำเป็นนโยบายเพื่อตอบสนองประชาชนต่อไป.-สำนักข่าวไทย