กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – ทุกภาคส่วนระดมสรรพกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งในส่วนของประชาชน นอกจากการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ควรเตรียมตัวอะไรอีกบ้าง ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว ติดตามจากรายงาน
จากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมา ทั้งพายุเกย์พัดถล่มที่ชุมพร และมหาวาตภัยตะลุมพุก ที่นครศรีธรรมราช แม้พอจะคาดการณ์จากปัจจัยต่างๆ ว่า พายุโซนร้อน “ปาบึก” พายุลูกแรกรับศักราชใหม่ อาจไม่ร้ายแรงเท่า แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ทิ้งความเสียหายรุนแรงไว้ให้
ที่ผ่านมาไทยทิ้งห่างจากพายุลูกใหญ่พัดถล่มในอ่าวไทยนานหลายสิบปี หลายคนจึงอาจละเลยการเตรียมการป้องกัน ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับทะเลมาค่อนชีวิต แนะนำว่า ช่วงเวลาที่น่าห่วงที่สุดยามพายุพัดเข้าฝั่ง คือ ตอนเช้าที่น้ำขึ้นสูง จะทำให้คลื่นที่ซัดเข้าฝั่งจากที่คาดว่าจะสูง 2-3 เมตร เพิ่มได้มาก 4-5 เมตร แม้กรมอุตุฯ เตือนให้ภาคใต้เป็นพื้นที่สีแดงเฝ้าระวัง แต่ในมุมมองกลับห่วงคนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ เป็นจุดที่ต้องเตือนให้ระวังที่สุด
หลังเห็นภาพพื้นที่เฝ้าระวัง สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ การเตรียมตัวของพี่น้องในพื้นที่ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง คงรู้ตัวเองดีว่า เมื่อมีคำเตือนออกมา ต้องนำของมีค่าและย้ายตัวเองออกมาจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย ไม่ดื้อยื้ออยู่ เพราะที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย
นอกจากนี้ แบตเตอรี่โทรศัพท์ชาร์จให้เต็ม พร้อมเพาเวอร์แบงก์ แบตสำรอง รวมถึงวิทยุชนิดใส่ถ่าน กันไว้หากเครือข่ายโทรศัพท์ล่ม ยังมีช่องทางไว้ติดตามข่าวสาร ส่วนพี่น้องชาวเรือรีบหาที่เก็บอุปกรณ์เลี้ยงชีพให้ไกลคลื่น ที่สำคัญไม่ว่าจะอยู่ริมฝั่งน้ำ หรือในเมือง สถานการณ์เช่นนี้ตุนอาหารไว้อย่างน้อย 3-7 วัน
ท้ายที่สุดในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย การเตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งที่จำเป็น และที่เหนือกว่าอุปกรณ์ยังชีพ สิ่งจำเป็นในยามคับขัน สำคัญที่สุด คือ “สติ” ที่จะควบคุมไม่ให้จิตเตลิด เพื่อพาเราไปสู่ทางออกได้ในทุกสภาพปัญหา. – สำนักข่าวไทย