กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – กรมเชื้อเพลิงฯ ประสานผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อพยพพนักงานรับ “ปาบึก” ตามแผนความปลอดภัย ระบุไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน ด้านเชฟรอนฯ-ปตท.สผ.เกาะติดรับภาวะฉุกเฉิน
แท่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีทั้งหมด 420 แท่น มีพนักงานรวม ๆ 3,000-4,000 คน มีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และน้ำมันประมาณ 100,000 บาร์เรล โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ประกอบการมีแผนรับมืออุบัติภัย เช่น พายุ และอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้มีการอพยพเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือผลกระทบพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ระบุว่าพายุโซนร้อนปาบึกจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 โดยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ ได้ประสานงานกับผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยผ่านห้องปฏิบัติการหรือวอร์รูม โดยขณะนี้ผู้ผลิตในอ่าวไทยตอนล่าง หรือตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมาได้ทยอยอพยพพนักงานกลับขึ้นฝั่ง เช่น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ซึ่งตามแผนงานได้เน้นย้ำถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด ขณะที่กำลังผลิตไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน การผลิตก๊าซฯ ยังปกติ ส่วนการผลิตน้ำมันลดลงเล็กน้อย สำหรับขั้นตอนอพยพพนักงานจะแบ่งเป็นส่วนสำคัญเกี่ยวข้องน้อยที่สุดออกมาก่อน และหากเหตุการณ์ไม่รุนแรงมากจะยังคงพนักงานในส่วนของพนักงานรับมือฉุกเฉินเฉพาะแท่นผลิตประมาณ 10 คนต่อแท่นไว้ แต่หากพบว่าพายุมีความรุนแรง ก็จะพิจารณาว่าจะอพยพคนทั้งหมดหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยจะแบ่งเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่ โซนอ่าวไทยตอนบน นับจากจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นไป ซึ่งพบว่าแท่นผลิตและพนักงานไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ต้องมีการอพยพแต่อย่างใด ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง หรือตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมาขณะนี้พื้นที่แท่นผลิตคาดการณ์ว่าจะอยู่ในโซนเตือนภัยระดับสีเหลือง (ระดับ 2 ) ขึ้นไป จึงมีการอพยพ โดยโซนของแหล่งที่ ปตท.สผ.ดูแล คือ แหล่งอาทิตย์ แหล่งบงกชเหนือ และแหล่งบงกชใต้ เป็นระดับสีส้ม (ระดับ 3 ) ขณะนี้ ปตท.สผ.กำลังพิจารณาว่าจะอพยพพนักงานรับมือฉุกเฉินทั้ง 3 แท่นผลิต ประมาณ 30 คน ขึ้นฝั่งหรือไม่ โดยลำดับโซนเตือนภัยจะแบ่งเป็น 4 สี หรือ 4 โซนตามลำดับความรุนแรงของพายุ จากระดับน้อยไปมาก ได้แก่ โซนสีเขียว, สีเหลือง , สีส้ม และสีเแดง โดยจะเริ่มอพยพตั้งแต่โซนสีเหลืองเป็นต้นไป
ในวันนี้ (2 ม.ค.) เชฟรอนฯได้ออกแถลงการณ์ ว่าได้จัดตั้งทีมงานจัดการกับสภาวะฉุกเฉิน เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการดำเนินการอพยพพนักงานส่วนใหญ่ขึ้นฝั่ง รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย โดยได้เริ่มดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จภายใน 1-2 วัน ตามขั้นตอนของแผนความปลอดภัยของบริษัทฯ
ทั้งนี้ ความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ขณะนี้พนักงานปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทุกคนปลอดภัย และการดำเนินงานของเชฟรอนในอ่าวไทยได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้บริษัทฯ ได้ระงับการเดินทางออกไปยังฐานปฏิบัติงานนอกชายฝั่งไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
เชฟรอนฯ ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลครอบครัวพนักงานขึ้น โดยสมาชิกครอบครัวของพนักงานที่มีความกังวลหรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-545-5035
ด้านปตท.สผ. ออกแถลงการณ์วานนี้ (1 ม.ค.) เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และได้ส่งพนักงานและผู้รับเหมาบางส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติงานเนื่องด้วยสภาพอากาศดังกล่าวกลับขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา ระงับการเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่ง ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุงไว้ชั่วคราว เคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุดีเปรสชั่นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์พายุดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซฯ ปตท.สผ.ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งต่าง ๆ ของ ปตท.สผ. เพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง.-สำนักข่าวไทย