กรมอุตุฯ 26 ธ.ค.-กรมอุตุฯ ชี้แจงข่าวลือ เตือน 9 จังหวัดอันดามัน อ่าวไทย ระวังอาจซ้ำรอยคลื่นยักษ์ถล่มอินโดฯ ไม่เป็นความจริง
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกเอกสารแถลงชี้แจง เรื่อง ข่าวลือแจ้งเตือน 9 จังหวัดอันดามัน อ่าวไทย ระวังซ้ำรอยคลื่นยักษ์ถล่มอินโดฯ โดยระบุว่า
ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์บางแห่งได้สัมภาษณ์นักวิชาการที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยระบุว่ามี 9 จังหวัดของภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเลอันดามันและอ่าวไทย ประกอบด้วยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและชุมพร มีโอกาสจะเกิดคลื่นยักษณ์คร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว เหมือนดังกรณีที่เกิดภูเขาไฟอานักกรากะตั้วที่ปะทุขึ้นในประเทศอินโดนีเซียทำให้เกิดผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเกิดความสับสนเกี่ยวกับข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง
กรมอุตุนิยมวิทยา ขอชี้แจงว่า แนวภูเขาไฟที่มีอยู่บริเวณทะเลอันดามัน มีความแตกต่างทั้งด้านลักษณะทางกายภาพ ระยะทางของแหล่งกำเนิดถึงชายฝั่งที่มากกว่า ความลึกและลักษณะของท้องทะเลและขอบของชายฝั่งที่ลึกกว่า ตลอดจนพฤติกรรมของการเกิดภูเขาไฟแถบนี้ที่เกิดน้อยกว่า ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่สามารถเทียบเคียงบริบทกับเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยลักษณะดังกล่าวน้อยกว่า และมีผลกระทบน้อยเช่นกัน
โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าหาฝั่งที่มีผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล ซึ่งหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 2547 ภาครัฐได้ลงทุนและพัฒนาระบบการตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศไทยให้มีศักยภาพและมาตรฐานสากลในปัจจุบัน และมีเครื่องมือหลากหลายชนิดเพื่อติดตามการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้งการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการทำงานเชิงบูรณาการข้อมูลและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา เท่านั้น และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อข้อความที่มาจากแหล่งที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงและขาดความน่าเชื่อถือ โดยสามารถติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่องทางต่างๆดังนี้
1.สายด่วน1182และหมายเลขโทรศัพท์023994547 ตลอด24ชั่วโมง
2.เวบไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และ http://earthquake.tmd.go.th
3.Facebook และTwitter :Earthquaketmd .-สำนักข่าวไทย