นนทบุรี 25 ธ.ค.-กระทรวงพาณิชย์จับมือกระทรวงพลังงานลดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน
160,000 ตันไปผลิตไฟฟ้า
หวังดึงให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายศิริ
จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ระหว่างนายวิชัย โภชนกิจ
อธิบดีกรมการค้าภายในและนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000
ในราคากิโลกรัมละ 18 บาทส่งที่ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง
ด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบังคับระเบียบข้อกำหนดของกฟผ.เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง
ด้านกรมการค้าภายในเป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่
กฟผ. ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีดำเนินการมาตรการ
รับสมัครผู้ประสงค์เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่กฟผ.คัดเลือกและจัดสรรปริมาณขายเพื่อให้กฟผ.ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งมอบสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและประธานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนความช่วยเหลือในระดับพื้นที่
เพื่อให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับยืนและระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในและกฟผ.จะติดตามตรวจสอบกำกับดูแลการดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งให้ปรับกระบวนการจัดหาราคาสัญญาซื้อขายตลอดจนรายละเอียดได้และหลักเกณฑ์อื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์และคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ
สำหรับการลงนามในวันนี้(25 ธ.ค.)
เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561
ที่เห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
เพื่อให้กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินจำนวน 160,000
ตัน นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 3
จังหวัดฉะเชิงเทราและให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่กฟผ
นายศิริ กล่าวว่า มาตรการนี้
กฟผ.จะนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง
ซึ่งจะใช้ผลิตไฟฟ้าเดือนละ 30,000 ตัน เริ่มกลางเดือนมกราคม 2562
ใช้มากกว่าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าเดือนละ 10,000 ตัน
ถึง 3 เท่าตัว ด้วยปริมาณการใช้ระดับนี้ ปีหน้าช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน
2562 กฟผ.จะซื้อน้ำมันปาล์มดิบครบ 150,000-160,000 ตัน และการรับซื้อครั้งนี้
เป็นราคานำตลาดที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม
เพื่อสะท้อนให้ราคาผลปาล์มดิบปรับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 3.20
บาทต่อกิโลกรัมจากปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม
การใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดสตอกน้ำมันปาล์มดิบลงจาก
450,000 ตัน เหลือประมาณ 300,000 ตันในช่วงกลางปี 2562 ช่วงนั้น
จึงไม่มีความจำเป็นต้องต่อมาตรการออกไปอีก
แต่กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการเสริมโดยร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)
ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถเมล์ 2,000 คัน
ซึ่งจะทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบปีละ 600,000 ตัน
เมื่อรวมกับการใช้ด้านพลังงานอีก 1.8 ล้านตันต่อปี และการบริโภคในประเทศอีก
900,000 ตันต่อปี รวมปริมาณต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบปีละ 2.7 ล้านตัน
เพียงพอในการสร้างสมดุลของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้ในประเทศและความต้องการใช้ในประเทศในภาพรวม
สำหรับภาวะราคาน้ำมันปาล์มดิบตกต่ำเกิดขึ้นทั่วโลกจากการต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มในอาหารและเชื้อเพลิงของสหภาพยุโรป
จึงนำมาสู่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงพลังงานดูแลในเรื่องนี้ .-สำนักข่าวไทย