เชียงใหม่ 24 ธ.ค. – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับลูก “ศิริ” พร้อมเดินหน้าเปิดให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่คาดเริ่มได้กลางปี 2562 เร่งทำความเข้าใจชุมชนและเคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับกฏหมายอื่นให้ชัดหวังเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมดูแลการผลิตแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชให้รักษาระดับการผลิตตามแผนกำหนดไว้โดยเฉพาะช่วงรอยต่อที่ใกล้สิ้นสุดอายุสัมปทานต้องไม่สะดุด
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รับมอบหมายจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้พิจารณาเปิดประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนและดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งระหว่างนี้กรมฯก็จะต้องไปพิจารณารายละเอียดให้สอดรับกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2561 ที่กำหนดรูปแบบดำเนินการไว้แล้วซึ่งแปลงอ่าวไทยจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC )และแปลงบนบกจะใช้ระบบสัมปทาน ทั้งนี้เพื่อที่จะเพิ่มสำรองแหล่งปิโตรเลียมของประเทศในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้มากขึ้น
“การเปิดสำรวจฯรอบใหม่นี้ก็ต่อเนื่องจากรอบที่ 21 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนจะเรียกว่ารอบที่เท่าใดหรืออย่างไร รวมถึงจะเปิดทั้งหมดเลยหรือว่าจะเปิดเฉพาะพื้นที่ที่เห็นว่ามีศักยภาพทั้งหมดก็คงต้องมาพิจารณาและรอนโยบายเป็นสำคัญซึ่งกฏหมายเองก็เปิดช่องไว้ว่าครบ 3 ปีให้สิทธิในการทบทวนได้ว่าจะใช้ระบบใดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ซึ่งภารกิจนี้ก็ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญต่อจากการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช” นางเปรมฤทัยกล่าว
นอกจากนี้การจะเปิดสิทธิ์ให้สำรวจฯรอบใหม่ก็จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ต่างๆ ที่ทับซ้อนเช่น กรมป่าไม้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ซึ่งกรมฯได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนี้เพื่อให้ความรู้และเข้าใจเพราะถือว่าเป้นเรื่องสำคัญเพราะหากมีการเปิดให้สำรวจฯแต่หากถูกต่อต้านก็คงไม่สามารถดำเนินการได้อยู่ดี
สำหรับการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทาน 23 เม.ย. 65 และบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานใน 7 มีนาคม ปี 2566 หลังจากได้รายชื่อ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(ปตท.สผ.) เป็นผู้ชนะประมูลทั้ง 2 แหล่งจะมีการลงนามในสัญญาระบบ PSC เดือนก.พ.62 จากนั้นกรมฯจะเร่งหารือปตท.สผ.เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการผลิตให้เป็นไปตามเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ(Invitation For ProposalหรือIFP) ขณะเดียวกันก็ต้องหารือให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยเฉพาะในส่วนของแหล่งเอราวัณที่มีเชฟรอนได้รับสัมปทานจะรักษาระดับการผลิตไว้ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบที่ต้องจัดหาเพิ่มเติม
“เราต้องเตรียมพร้อมเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานรายใหม่ต้องเข้ามาผลิตให้เป็นไปตามกำหนดในIFP และทำอย่างไรให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมรักษาระดับการผลิตไว้ให้มากสุดถึงรายใหม่เข้ามามีความพร้อมแต่รายเก่าจะสิ้นสุดแล้วจะผลิตในช่วงรอยต่อไม่ให้กระทบจนต้องจัดหาก๊าซฯเพิ่มเติมจากที่อื่น บงกชเป็นรายเก่าคงไม่ห่วง แต่แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน(ล้านลบ.ฟุตต่อวัน)เมื่อปลายอายุแล้วการที่เชฟรอนเขาจะขุดเจาะเพิ่มเพื่อรักษาผลิตก็คงจะไม่คุ้มเราก็ขอให้ลดได้แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน นอกจากนี้การนำแท่นขุดเจาะใหม่ลงก็จะต้องใช้เวลา 30 เดือนอย่างต่ำ ฯลฯ ขณะเดียวกันกรมฯก็ต้องชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดของ PSC ให้กับทุกฝ่ายได้เข้าใจแม้ว่าเราจะใช้รูปแบบนี้แล้วกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)แต่ครั้งนี้จะเกิดขึ้นที่ไทยแบบเต็มรูปแบบ”นางเปรมฤทัยกล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว มีความเชื่อมั่น 90% ว่าสามารถผลิตได้ (Proved Reserves : P1) ประมาณ 6.4 ล้านล้านลบ.ฟุต และปริมาณสำรองเชื่อมั่น 50% ว่าจะผลิตขึ้นมาได้ (Probable Reserves : P2) ประมาณ 4.6 ล้านล้านลบ.ฟุต ขณะที่การใช้อยู่ท่ 13 ล้านล้านลบ.ฟุตจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับการผลิตไว้ไม่ให้ต่ำลง อย่างไรก็ตามในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.61) ไทยผลิตก๊าซฯได้(ไม่รวมJDA) อยู่ที่ 8.4 แสนล้านลูกบาศก์ฟุตลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ประมาณ 3 หมื่นล้านลบ.ฟุต น้ำมันดิบ ผลิตได้ประมาณ 39.5 ล้านบาร์เรลลดลงประมาณ 2.3 ล้านบาร์เรล . – สำนักข่าวไทย