กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมออกกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ วางหลักเกณฑ์การกู้เงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนให้รัดกุมขึ้น พร้อมแต่งตั้งผู้สอบบัญชีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมพิจารณาออกเป็นกฎกระทรวงและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ประกอบ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ซึ่งมีกฎกระทรวง 13 เรื่องและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ 3 เรื่อง โดยทั้งหมดต้องบังคับใช้ภายใน 2 ปี ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ จะทยอยออกประกาศจนครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะสาระสำคัญในมาตรา 89/2 เรื่องการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนต้องมีกฎกระทรวงออกมาทั้งหมด 12 ฉบับ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเร่งรัดดำเนินการ
เบื้องต้นเสนอร่างกฎกระทรวงและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ในที่ประชุมกรรมาธิการให้พิจารณาแล้ว แต่อาจต้องมีปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ตามร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ….เป็นกฎหมาย เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์แล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารับรองและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 วัน
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ที่จะเพิ่มเติมและแตกต่างจาก พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 เช่น การกำหนดประเภท ลักษณะของสหกรณ์และวัตถุประสงค์ขอบเขตการดำเนินกิจการสหกรณ์แต่ละประเภท การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกสมทบสหกรณ์ การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบัญญัติผู้ตรวจสอบกิจการ งบการเงิน และการสอบบัญชี การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจกระทำการของสหกรณ์กรณีเรื่องการรับฝากเงินจากนิติบุคคล การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงาน และการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับการกำหนดระบบบัญชีและการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
“กรมส่งเสริมสหกรณ์มอบหมายให้สำนักนายทะเบียนและกฎหมายพิจารณาถึงข้อบัญญัติในกฎหมายสหกรณ์ฉบับ พ.ศ.2542 ว่ามีเรื่องใดที่ออกไว้และขัดกับกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อจะได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกัน โดยจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพิจารณาว่ากฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติที่จะต้องออกมารองรับกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่มีกี่เรื่องและมีเรื่องใดบ้าง เพื่อจะเตรียมร่างรอไว้ เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน กรมฯ จะเสนอร่างกฎกระทรวงและข้อบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องและทันการประกาศใช้กฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและสนับสนุนดำเนินงานของสหกรณ์โดยรวมต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย