กรุงเทพฯ 29 พ.ย. – กนย.ไฟเขียว 3 มาตรการ จ่ายเงินช่วยชาวสวนยาง เร่ง อปท.ทำถนนยางพารา หนุนแปรรูปส่งออก พร้อมลดพื้นที่ปลูกยางไม่เหมาะสม 4 ล้านไร่ ตั้งคณะทำงานหาพืชอื่นแทนสวนยาง มั่นใจราคายางขึ้นแน่นอนเป็นของขวัญปีใหม่ชาวสวนยางทั่วประเทศ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนย .มอบหมาย โดยกล่าวว่า กนย. มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ กว่า 1.3 ล้านราย โดยเจ้าของสวนยางกว่า 900,000 ราย ได้รับ 1,100 บาท และคนกรีดยางกว่า 300,000 ได้รายละ 700 บาท 2.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศประมาณ 80,000 แห่ง ทำถนนยางพาราผสมอย่างน้อยหมู่บ้านและตำบลละ 1 กิโลเมตร และ 3.ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งกลุ่มแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออก
ทั้งนี้ สำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 8 กลุ่มที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จ ได้แก่ สหกรณ์ชาวสวนยาง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี สามารถทำโรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแท่งส่งออกตลาดต่างประเทศ เพื่อนำไปผลิตล้อยางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จึงจะใช้เป็นต้นแบบให้สหกรณ์ชาวสวนยางที่มีความพร้อมและมีศักยภาพดำเนินการลักษณะเดียวกันเพื่อเกษตรกรจะได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ถูกกดราคาโดยคนกลาง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความสนใจเข้ามาดำเนินโครงการโดยเร็วและกรมฯ สนันสนุนด้านเครื่องจักรเครื่องกล รวมทั้งส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูป
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทผลิตล้อยางรถยนต์ทั้งของไทยและต่างประเทศที่มีโรงงานในไทยมาประชุม เพื่อขอความร่วมมือรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เพื่อเพิ่มปริมาณรับซื้อมากขึ้น ซึ่งรัฐจะให้สิทธิพิเศษทางภาษี รวมทั้งการสนับสนุนผู้ที่จะมาตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน ต้องลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสมประมาณ 4 ล้านไร่ โดยตั้งคณะทำงานพิเศษดูแลอย่างเป็นรูปธรรมและใกล้ชิดกับเกษตรกร ในการหาพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกยาง โดยมอบหมายทั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนส่งเสริมปลูกพืชอื่นทดแทนยางหรือปลูกแซมในสวนยางที่มีอายุ 25 ปี หรือเกิน 15 ปีที่ต้นโทรมและให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มทุน ซึ่งสั่งทำแผนให้เสร็จก่อนปีใหม่ให้ได้ข้อมูลชัดเจนว่าพืชชนิดใดที่จะนำมาทดแทนยาง โดยมีผลตอบแทนสูง สิ่งสำคัญต้องมีตลาดรองรับ เพื่อเป็นของขวัญให้กับเกษตรกรสวนยางทั่วประเทศ
“อปท.ที่แสดงความจำนงร่วมโครงการทำถนนผสมยางพาราอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ขณะนี้เพิ่มมากขึ้น จึงสั่งให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจดูแลโครงการทำถนนยางพาราอย่างใกล้ชิดที่กระทรวงเกษตรฯ ให้สรุปความคืบหน้าเพื่อรายงาน กนย.ทุกวันพฤหัส มั่นใจว่าหากดำเนินการทั้งหมดนี้ราคายางต้องปรับตัวขึ้นแน่นอน ซึ่งประสานกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทให้จัดทำแผนผังโครงสร้างถนนยางพาราทั้งแบบแอสฟัสติกและพาราซอยซีเมนต์ ซึ่งรับรองโดยวิศวกรกรมทางหลวงชนบท เพื่อ อปท.จะสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ ทั้งนี้ แบบเสร็จก่อนวันที่ 10 ธันวาคม นอกจากนี้ ยังได้กำชับ กยท.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศให้ทุ่มเททำงาน โดยดำเนินการโครงการต่าง ๆ ให้เห็นผลสำเร็จ เพื่อให้เกษตรกรสวนยางพ้นจากฝันร้ายที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่อง เป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวสวนยาง” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย