กรุงเทพฯ 28 พ.ย.- กลายเป็นประเด็นร้อนทันที หลังมีมอเตอร์ไซค์อาศัยจังหวะอ้างรถติด วิ่งสวนขึ้นบนทางเท้า แล้วก็ไปชนเด็กหญิงแถวลาดพร้าว จนได้รับบาดเจ็บ นำมาสู่การถกเถียงในประเด็นจะทำอย่างไรให้ลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงได้
ยังคงทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ราวกับว่าข่าวคราวครึกโครมที่เกิดขึ้นวานนี้ ไม่มีอยู่จริง จากการสังเกตของทีมข่าวพบว่าในพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยังมีประชาชนคนทั่วไป วินมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่พนักงานส่งของ ก็ยังคงใช้ทางเดินเท้าเป็นทางลัดนำตัวเองไปสู่ปลายทางได้เร็วขึ้น และทำเหมือนผู้คนที่เดินผ่านไปมาไร้ตัวตนบนถนนที่วิ่งอยู่
แม้จะมีการต่อว่า พูดถึง รวมทั้งตั้งเพจตามถ่ายภาพความมักง่าย แต่เสียงก็ยังดังไม่พอให้เกิดการตระหนัก จึงกลายเป็นภาพชินตาในสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญทำให้คนในสังคมฉุกคิด คงไม่พ้นเหตุการณ์วานนี้ ที่นักเรียนหญิงถูกแมสเซนเจอร์หนุ่มลักไก่อ้างรถติด วิ่งบนทางเท้า ชนได้รับบาดเจ็บล้มไปกองกับพื้นแถวปากซอยลาดพร้าว 69 ล่าสุด ผู้ว่าฯ กทม.ที่ออกอาการเดือดดาลกับสิ่งที่เกิดขึ้น เตรียมงัดมาตรการเด็ดหวังลดผู้กระทำผิด ทั้งสั่งให้เพิ่มจุดตรวจทั้ง 50 เขต พร้อมจะเพิ่มเงินค่าปรับจาก 500 เป็น 1000 บาท ย้ำไม่มีเตือน เจอปั๊ปจับปรับทันที
จุดที่พบการกระทำผิดมากที่สุดใน กทม. คือ 1.เขตวังทองหลาง รองลงมาคือเขตสวนหลวง เขตลาดกระบัง และเขตวัฒนา ตามลำดับ ส่วนใหญ่อ้างหนีรถติด และจุดกลับรถอยู่ไกล จึงใช้วิธีขี่ย้อนศรบนฟุตปาธ
ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ถึง 30 กันยายน พบว่าใน กทม.มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสม ทั้งส่วนบุคคล และสาธารณะ มีประมาณ 3,670,000 กว่าคัน และในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา พบสถิติจับและปรับผู้กระทำผิดแล้วกว่า 8,000 ราย สอดคล้องกับข้อมูลของ กทม.ที่เริ่มโครงการกวดขันห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งบนฟุตปาธตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว พบผู้กระทำผิดกว่า 10,000 ราย จับปรับได้เงินกว่า 4,000,000 บาท
แม้ กทม.จะยอมรับว่าจุดอ่อนสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอดูแลได้ทุกเส้นทาง แต่ก็จะแก้ปัญหาโดยจะเพิ่มจุดตรวจ 115 จุด เป็น 230 จุด และไม่ต้องรอให้ประชาชนถ่ายคลิปส่งมา เทศกิจสามารถจับปรับได้เลย หากพบความผิดซึ่งหน้า ส่วนค่าเพิ่มค่าปรับกฎหมายให้ปรับสูงสุดได้ถึง 5,000 บาท แต่ชั้นนี้จะเพิ่มจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นธันวาคมนี้.-สำนักข่าวไทย