กทม.28 พ.ย.-กทม.หยุดจับสุนัขจรจัดชั่วคราว พร้อมตั้งคณะทำงานร่วม กับกลุ่มคนรักสัตว์ เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ใช้เวลา100วัน ได้ข้อสรุปชัดเจน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาและดูแลสุนัขจรจัด ร่วมกับมูลนิธิเดอะวอยซ์(เสียงจากเรา) และกล่าวภายหลังการหารือ ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการจับสุนัขจรจัด ซึ่งมีอยู่ประมาณ150,000 ตัวและดำเนินการจับด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเขตละ 6คน ซึ่งจับสุนัขจรจัดได้หลายร้อยตัว แต่มีเจ้าของมารับกลับไปบ้างหรือคนรักสุนัขมารับไปเลี้ยง และยังคงเหลือสุนัขจรจัดอยู่ที่ศูนย์กักกันสุนัขจรจัดเขตประเวศอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีการท้วงติงจากกลุ่มคนรักสัตว์และภาคีเครือข่าย เกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการจับ วิธีการจัดการและสถานที่กักกัน จึงได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยกทม.เป็นแกนกลาง ร่วมกับสมาคมและภาคีชมรมคนรักสัตว์รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันวางข้อกำหนด ข้อบังคับและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการกับสุนัขจรจัด ทั้งระบบ และใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในอนาคต โดยจะตั้งคณะทำงานในวันศุกร์นี้ และใช้เวลาในการทำงานประมาณ 100 วัน โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกทม. จะหยุดจับสุนัขจรจัดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีมติหรือแนวทางจากคณะทำงานชุดนี้ออกมา ยกเว้นกรณีที่เป็นสุนัขดุร้าย สุนัขบ้า และสุนัขสุ่มเสี่ยงโรค และที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น ยังจับตามปกติ
น.ส.ชลลดา เมฆราตรี ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์ (เสียงจากเรา) กล่าวว่า การหารือในวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นข่าวดีสำหรับคนรักสัตว์ที่จะได้ร่วมกันแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้น ไม่เฉพาะจะดูแลพิทักษ์สิทธิให้กับสัตว์จรจัด แต่จะจัดการกับคนเลี้ยงสุนัขในชุมชน ที่ต้องจัดการสัตว์เลี้ยงของตัวเองและมีการจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงของตัวเองไม่ให้ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่นด้วย
ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก เสนอแนวทางแก้ปัญหา ประกอบด้วยให้มีการกำหนดเงื่อนไขและข้อกำหนดในการจับสุนัขให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันระบบของกรุงเทพมหานครได้ให้เขตมีสิทธิ์ในการตัดสินใจจับสุนัขและส่งเข้าศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดเขตประเวศ ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็วแต่เนื่องจากศูนย์ประเวศไม่สามารถรองรับสุนัขจำนวนมากได้ทำให้การคัดกรอง ดูแลทำหมัน ฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ดังนั้นการจับควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและข้อกำหนดลักษณะสุนัขที่จำเป็นต้องถูกจับออกจากพื้นที่ รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ขนส่งที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ และประกาศหลักการให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมสุนัขในความดูแลป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างสุนัขมีเจ้าของกับสุนัขเร่ร่อน และเห็นว่าสุนัขจรจัดที่จับไปไม่จำเป็นจะต้องส่งศูนย์ฯประเวศเพียงที่เดียว แต่องค์กรอิสระและมูลนิธิต่างๆยินดีเป็นศูนย์ทำหมันและฉีดวัคซีน เพื่อลดความแออัดในศูนย์ฯประเวศและลดค่าใช้จ่ายของกรุงเทพมหานคร โดยมูลนิธิฯและองค์กรรักสัตว์ ตั้งเป้าช่วยในการทำหมันสุนัขในกรุงเทพปีละ 1 แสนตัว
ส่วนอีกข้อเสนอ คือ ขอให้กทม.ตั้งเป้าการทำหมันสุนัขเป็นจำนวนที่ชัดเจนและมากพอที่จะควบคุมปริมาณสุนัขจรจัด รวมถึงมีระบบจำนวนการทำหมันที่ชัดเจนและตรวจสอบ ได้ เช่น การทำสัญลักษณ์ การฝังไมโครชิพ เป็นต้น รวมทั้งปรับระบบการจัดการบริหารสถานที่พักพิงสัตว์ ของกทม. ทั้งสถานที่พักพิงสัตว์ทั้งประเภทชั่วคราวที่เขตประเวศและประเภทถาวรที่ทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ให้มีมาตรฐานอย่างน้อยที่สุดคือมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ 5 Freedom.-สำนักข่าวไทย