กรุงเทพฯ 26 พ.ย.- หลังสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ประเดิมนำรถจักรยานยนต์ดับเพลิงมาใช้ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในกระแสสังคม ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการใช้งาน กับงบประมาณที่ต้องจ่ายไปกว่า 23 ล้านบาท เฉลี่ยคันละกว่า 1.3 ล้านบาท อุปกรณ์จะมีอะไรบ้าง ? ติดตามจากรายงาน
สัญญาณไฟฉุกเฉินที่ติดตั้งบนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู รุ่นเอฟ 800 จีเอส เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชุดดับเพลิง ที่ถูกออกแบบ ประกอบชิ้นส่วนสต่างๆ ไว้กับตัวรถ เช่น ถังดับเพลิงหนัก 40 กิโลกรัม หัวฉีดเหล็กที่ทุบกระจกรถได้ ตลอดจนวิทยุสื่อสาร ที่มาพร้อมกับเครื่องขยายเสียง รวมน้ำหนักอุปกรณ์ต่างๆ เกือบ 100 กิโลกรัม ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ขนาด 800 ซีซีขึ้นไป เพื่อรองรับน้ำหนักอุปกรณ์ และให้ทันต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้ยานพาหนะ หรือบ้านเรือนประชาชน ตามตรอกซอกซอย
กทม.ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 50 จัดซื้อรถจักรยานยนต์ดับเพลิง 18 คัน ด้วยระบบ e-bidding วงเงินกว่า 23 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 1.3 ล้านบาท หากเทียบกับราคาท้องตลาดที่อยู่คันละ 700,000 บาท เท่ากับว่า กทม.เสียค่าติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว แต่ กทม.อ้างเป็นเรื่องระบบเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
ด้านผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมยานยนต์ตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดของรถจักรยานยนต์ที่บรรทุกถังดับเพลิงได้เพียง 2 ถัง ไม่ตอบโจทย์กับการระงับเหตุในพื้นที่ชุมชนแออัด พร้อมตั้งคำถามถึงงบประมาณ อาจไม่คุ้มค่ากับการใช้งานจริง เพราะปัจจุบัน กทม.มีรถดับเพลิงที่มากเกินความจำเป็น
สำหรับสถิติเหตุเพลิงไหม้ยานพาหนะในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 54 จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยเกิดขึ้นกว่า 200 ครั้ง/ปี โดยรถจักรยานยนต์ดับเพลิงจะกระจายไปประจำการตามสถานีดับเพลิง 18 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง บางรัก ทุ่งมหาเมฆ ภูเขาทอง หลังจากนี้คงต้องจับตาการใช้ประโยชน์จากรถจักรยานต์ดับเพลิง ว่าจะคุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนหรือไม่.-สำนักข่าวไทย