กทม. 22 พ.ย.- เจาะลึกผลกระทบ หลัง ทอท. ชะลอการก่อสร้างโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกไป
หลังจากมีปัญหาการประกวดแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น โดยสภาวิชาชีพ กลุ่มต่างๆ ทั้งสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร ออกมาคัดค้านผลการประกวดแบบ และขยายออกไปเป็นเรื่องที่กล่าวหาว่า ทอท. ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทพัฒนาสนามบิน หรือ มาสเตอร์แพลน ที่มีมาตั้งแต่ปี 2536
เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ที่มี นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน ได้มีมติชะลอโครงการออกไป โดย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บมจ.ทอท. กล่าวยอมรับว่า จะมีการรอฟังผล ซึ่ง ทอท. สอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ในเรื่องข้อกฎหมาย หากจะเดินหน้าโครงการ และที่สำคัญได้สอบถามไปที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอเคโอ เพื่อยืนยันว่า การปรับปรุงแผนมาสเตอร์แพลน เป็นไปตามคำแนะนำของไอเคโอ โดย ทอท.ไม่ได้ตีความเข้าข้างตัวเอง แน่นอนการรอฟังผลทั้งอัยการสูงสุด และไอเคโอ ก็จะทำให้การพิจาณณา เดินหน้าโครงการเทอร์มินอล 2 ล่าช้าออกไป จากเดิมที่มีการพิจารณาอนุมัติเดินหน้าก่อสร้างภายในปี 2561 ก็จะรอไปจนกว่า จะได้คำตอบที่ชัดเจน
การชะลองานก่อสร้างล่าช้าจากกำหนดเวลาเดิม กระทบอะไรบ้าง เพราะก่อนหน้าสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา และ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินแห่งประเทศไทย หรือ เอโอซี ต่างเห็นด้วยกับการเดินหน้าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดยชี้ถึงประเด็นการแก้ปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานตัวแทนสายการบิน ที่ใช้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
มาทำความเข้าใจว่าปัญหาความแออัดของสุวรรณภูมิ ที่ ทอท.อ้างว่า การก่อสร้างเทอร์มินอล 2 มีความสำคัญมาก คือ ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เปิด ตั้งแต่ปี 2549 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันนี้ มีผู้โดยสารจริง 62 ล้านคนต่อปี ทำให้ ทอท.ได้เร่งเดินหน้างานก่อสร้าง ขยายสนามบินเฟสที่ 2 ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ การก่อสร้างจะเสร็จปี 2563 ก็จะช่วยให้สุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน แต่ในปีนั้น ก็มีการคาดการว่า สุวรรณภูมิ จะมีผู้โดยสารเดินทาง 70 ล้านคนต่อปี
สิ่งที่ ทอท.พยายามผลักดัน ให้มีการก่อสร้าง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ฝั่งทิศตะวันออกนี้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารอีก 30 ล้านคนต่อ ซึ่งเดิมทีการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ในปี 2565 ซึ่งปีนั้นสุวรรณภูมิ จะมีผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี และขีดความสามารถ ทั้งอาคารผู้โดยสารหลัก และหลังที่ 2 รวมกัน ก็จะรองรับ ผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปีเช่นกัน จะเป็นครั้งแรกที่ จำนวนผู้โดยสารจริง กับขีดความสามารถสนามบินใกล้เคียงกัน แต่เมื่อมีการชะลอโครงการออกไป แน่นอนสิ่งเหล่านี้จะกระทบไปด้วย ต้องไปดูว่า ท้ายสุด ทอท. จะต้องปรับแผนยังไง ภาครัฐ จะแก้เรื่องนี้ ยังไง เพราะแน่นอน ความแออัดสนามบิน จะกระทบทั้งการท่องเที่ยว และความสะดวกในการเดินทาง ต้องติดตาม.-สำนักข่าวไทย