fbpx

ประกาศรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561

รพ.ศิริราช 21พ.ย.-ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2561 สาขาการแพทย์ ได้แก่ 2 ศาสตราจารย์จากสหรัฐอเมริกาผลงานศึกษาค้นคว้าวิจัยพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม ส่วนผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์จากสหรัฐ และสวีเดน ที่ร่วมกันศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกัน อหิวาตกโรคชนิดกิน


ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27 ประจำปี  2561 ได้แก่    


 

1.สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ (Professor Brian J. Druker),ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King) โดย ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์  (Professor Brian J. Druker)เป็นศาสตราจารย์อายุรศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งในมหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอนสหรัฐอเมริกา มีผลงานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย จนเป็นผู้นำในการพัฒนา หนึ่งในยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า คืออิมาทินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ชนิดซีเอ็มแอล


ยาอิมาทินิบ มีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนมะเร็ง BCR-ABL ที่พบเฉพาะในเซลล์ของผู้ป่วยโรคซีเอ็มแอล ซึ่งเซลล์ปกติ ไม่มีโปรตีนดังกล่าว ทำให้มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย  รวมถึงได้ผ่านการทดลอง ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลองและการศึกษาทางคลินิก  พบว่า ผู้ป่วยที่ได้ยาสม่ำเสมอสามารถลดความรุนแรงอัตราการตายและความพิการจากโรคซีเอ็มแอลได้ หากไม่ได้รับยาอิมาทินิบ ผู้ป่วยจะมีอาการหนักจนถึงเสียชีวิตภายใน 3 ปี  ปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าขึ้นอีกหลายชนิดสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

 ด้าน ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King)เป็นศาสตราจารย์เวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรค มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่า 2ล้านคนและมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 2แสนคนในแต่ละปี  

ในปี พ.ศ.2534 ศ.ดร.คิง ค้นพบตำแหน่งของยีนที่เมื่อเกิดการกลายพันธุ์จะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์  และตั้งชื่อยีนนั้นว่า BRCA1 นับเป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์ว่ามะเร็งที่พบได้บ่อยสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม สามารถค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านมจากสาเหตุทางพันธุกรรม ช่วยป้องกันการเกิดโรคด้วยการเฝ้าระวังหรือการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ต่อมาได้มีการค้นพบยีนอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม เช่น BRCA2 โดย ศ.ดร.คิง ยังมีส่วนร่วมในการศึกษายีนเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่ด้วย และ BRCA1 ยังเป็นยีนที่เกิดการกลายพันธุ์ได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  

นอกจากนี้ ศ.ดร.คิง ยังได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พัฒนาการตรวจยีนมะเร็งด้วยเทคนิคใหม่เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันการตรวจหายีนมะเร็ง มีราคาถูกจนคนเข้าถึงได้จำนวนมาก ผู้ป่วยและครอบครัวที่ตรวจคัดกรองพบการกลายพันธุ์ของยีนจึงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ป้องกันการเสียชีวิตจากการลุกลามของโรคได้อย่างกว้างขวาง

ผลงานการค้นพบที่สำคัญของ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ที่พบยาต้นแบบในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมุ่งเป้า ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้าอย่างก้าวกระโดด และศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ที่พบยีนสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมและการพัฒนาชุดตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจยีน ทำให้สามารถคัดกรองคนทั่วไปที่มีความเสี่ยงและวางแผนการเฝ้าระวังโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษาความรู้พื้นฐาน การพัฒนาแนวทางวินิจฉัย และการรักษาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ส่งผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งเต้านมได้จำนวนหลายล้านคนทั่วโลก  

2.สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R.  Holmgren) โดยทั้ง 2 คนทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกินอหิวาตกโรค เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร การระบาดทั่วโลกครั้งแรกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19  นับถึงปัจจุบันมีการระบาดทั่วโลกแล้ว 7 ครั้ง  มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายล้านคน  โดยได้มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคชนิดฉีดมาเป็นเวลานาน แต่พบว่ามีประสิทธิภาพต่ำ ในช่วงทศวรรษ 1970 

ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ได้เสนอผลการวิจัยว่าภูมิต้านทานที่สำคัญในการป้องกันอหิวาตกโรค คือชนิดไอจีเอ ซึ่งสร้างขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร และวัคซีนชนิดกินมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด ส่วน ศ.นพ.จอห์น ดี.คลีเมนส์ มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเพื่อแสดงประสิทธิผลของวัคซีนชนิดกินในการทดสอบทางคลินิก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคควรเป็นชนิดกิน  และยุติการใช้วัคซีนชนิดฉีด

โดยวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเรียกว่า ดูโครอล (Dukoral)  แต่มีราคาแพง มีความลำบากในการกิน และมีประสิทธิภาพการป้องกันได้เพียงประมาณร้อยละ 50 ในเวลา 2 ปี  ในทศวรรษที่ 2000 

ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ได้ผลิตวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน  ชนิดใหม่เรียกว่าชานชอล (Shanchol) ซึ่งมีราคาถูก และมีประสิทธิภาพการป้องกันสูงได้นานกว่า 5 ปี  

นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันอาศัยหมู่   โดยพบว่าการให้วัคซีนกับประชากรประมาณร้อยละ 60 (ไม่จำเป็นต้องให้ครบทุกคน) จะสามารถช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้  เพราะเมื่อคนที่ได้รับวัคซีนไม่เป็นโรค จะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้วัคซีนได้ด้วย เพราะไม่มีการแพร่กระจายของโรคด้วยแนวคิดนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนชาน ชอลในประเทศที่มีปัญหาการควบคุมอหิวาตกโรคมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010  และในปี ค.ศ. 2013 องค์การอนามัยโลก และกลุ่มพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI)  ได้จัดทำคลังวัคซีนดังกล่าวสำหรับใช้ในการป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค  โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังเช่นในประเทศเฮติ หลังจากได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนแมทธิว ในปี ค.ศ.2016   และหลังจากการอพยพของกลุ่มประชากรโรฮิงยาจำนวนมากเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ในปี ค.ศ.2017 ซึ่งเชื่อว่าการให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกินแก่ประชากรหลายแสนคนในแต่ละเหตุการณ์  ช่วยป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ได้

ผลงานการศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานป้องกันอหิวาตกโรค ไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดกินที่ได้รับการทดสอบทางคลินิกจนเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลกของศ.นพ.จอห์น ดี.คลีเมนส์ และศ.นพ.ยอน อาร์.โฮล์มเกรน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีด เป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทน และสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาหรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

 ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ทั้งสิ้น 49 ราย จาก 25 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ  ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2561, 2560, 2559 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นประธาน  พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย  เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน  พ.ศ.2561

 ระยะเวลา 26 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น  79 ราย มีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  4 ราย    ได้แก่   ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และศ.พญ.สุจิตรา  นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก  ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2539  และนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และนายมีชัย วีระไวทยะ  ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย  ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการการสาธารณสุข ประจำปี 2552 และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลแล้วต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล 5 ราย

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี  แห่งการพระราชสมภพ 1มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นายกตรวจน้ำท่วมเชียงราย

นายกฯ บินเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

“นายกฯ แพทองธาร” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เตรียมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมการลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือของกองทัพ

ชิงทองระนอง68บาท

รวบแล้วโจรชิงทอง 68 บาท กลางห้างดังระนอง

รวบแล้ว 2 คนร้ายชายหญิง จี้ชิงทอง 68 บาท ในห้างดังกลางเมืองระนอง ฝ่ายชายรับสารภาพ ชีวิตตกต่ำ ไม่มีรายได้ จึงชวนหลานสาววัย 16 ปี มาร่วมก่อเหตุชิงทอง

น้องชายรัวยิงพี่สาวตายกลางงานศพแม่ อ้างฉุนไม่ให้ร่วมจัดงานศพ

น้องชายชักปืนรัวยิงพี่สาวเสียชีวิตกลางงานศพแม่ ภายหลังน้องชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเหตุผลฆ่าเพราะโมโห รู้สึกว่าพี่สาวใจดำมากที่กีดกันไม่ให้ตนช่วยจัดงานศพแม่

บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ

เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมสืบนครบาล บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ มีเบาะแสต้นตอการทะลักของยาเขียวเหลือง ตะลึงพบซากจิ้งจกตายในหม้อต้ม ขณะที่เจ้าของโรงงานยันประกอบอาชีพโดยสุจริต

ข่าวแนะนำ

ฟื้นฟูแม่สาย

เร่งกำจัดขยะดินโคลน-เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ทุกหน่วยงานต่างระดมสรรพกำลังช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้านเรือน ผิวจราจร ที่แม่สาย หลังน้ำลดทิ้งขยะ และดินโคลน เอาไว้

รถตกน้ำ

ขนดินไปช่วยอุดน้ำท่วม แต่ดินทรุดรถตกน้ำทับร่างดับ

สลด ลูกจ้างเทศบาลเลิกงานแล้ว แต่ยังมีจิตอาสา ขับรถ 6 ล้อขนดินไปช่วยปิดทางน้ำให้ชาวบ้านน้ำท่วม แต่มีเหตุดินทรุด รถไหลตกน้ำ เจ้าหน้าที่พยายามช่วยดึงร่างออกมา แต่สุดยื้อชีวิต

วิทยุสื่อสารระเบิด

วิทยุสื่อสารระเบิดทั่วเลบานอน ตาย 20 เจ็บ 450

เกิดเหตุโจมตีระลอกใหม่ในเลบานอน คราวนี้เป็นเหตุวิทยุสื่อสารของสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ระเบิดหลายจุดทั่วเลบานอน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 450 ราย

ภูเก็ตฝนตกต่อเนื่อง ชาวบ้านหวั่นเขาถล่มซ้ำ

หลังจากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ จ.ภูเก็ต มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับน้ำท่วมขัง ขณะที่พื้นที่ ต.กะรน จุดที่เคยเกิดดินถล่ม มีผู้เสียชีวิต 13 ราย เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่อยู่อย่างผวา เพราะกลัวดินจากภูเขาจะถล่มซ้ำอีก