กทม.19 พ.ย.- ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ ค้าน พ.ร.บ.ไซเบอร์ ชี้เสี่ยงถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ บอก ม.14 พ.ร.บ.คอมฯ ครอบคลุมอยู่แล้ว
นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ แถลงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เข้า ครม.วันพรุ่งนี้(20พ.ย.) ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องไปทบทวนถึงความเหมาะสมในตัวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าหากนำมาบังคับใช้ จะเกิดผลกระทบกับประเทศอย่างไรบ้างนั้น หลังได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเห็นว่า หากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลเสียต่อประเทศมากมาย ทั้งด้านความมั่นคงของระบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การค้าการลงทุน การเมือง รวมถึงขัดหลักสากล โดยเฉพาะการลงทุน ต่างชาติจะขาดความเชื่อมั่นว่าไม่มีความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ ความลับทางการค้า ข้อมูลทางการเงินอาจถูกเปิดเผยได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าและถูกตั้งกำแพงภาษีจากประเทศมหาอำนาจ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ คือคณะกรรมการป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ มีอำนาจเข้าตรวจสอบบุคคลหรือเครื่องมือ รวมทั้งช่องทางสารสนเทศ ต่างๆที่มีข้อสงสัยได้ โดยไม่มีฝ่ายตุลาการเข้าไปถ่วงดุลอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศขาดความน่าเชื่อถือ, การให้อำนาจฝ่ายบริหารซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจตัดสินใจใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจถูกนำไปเป็นเครื่องมือ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง
นายศรีอัมพร ยังกล่าวอีกว่า มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอรฯ ที่มีใช้ในปัจจุบัน มีอำนาจครอบคลุมการดำเนินการหรือการป้องกันป้องปราบ การกระทำผิดทางไซเบอร์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่เสี่ยงต่อการทำให้ประชาธิปไตยของประเทศเสียหาย แต่หากมีความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ควรให้มีฝ่ายตุลาการเข้ามาถ่วงดุลการดำเนินการของฝ่ายบริหาร ส่วนตัวเกรงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว และคณะทำการ กปช. จะถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร และการเมือง
นายศรีอัมพร ยังระบุอีกว่า หากมีการดำเนินการส่งเรื่องนี้เข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้(20พ.ย.) เชื่อว่าจะผ่านร่างอย่างแน่นอนและเมื่อส่งร่างต่อให้ สนช. สนช.ก็จะพิจารณาผ่านร่างเช่นกัน ดังนั้นคนที่รับกรรมจากผลพวงของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือประชาชนทั้งประเทศ.-สำนักข่าวไทย
