อนุสาวรีย์ชัยฯ14 พ.ย.-ภาคประชาสังคม แถลงชี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยคำขอสิทธิบัตรกัญชา12 ฉบับทำชาติเสียหาย สนช.ไม่กล้าพิจารณาในสัปดาห์นี้ หวั่นโดนฟ้องและผลประโยชน์ตกต่างชาติ
วันนี้ (14 พ.ย.) ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา แถลงข่าวตอบโต้ข้ออ้างของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ ชี้ถึงการทำผิดกฎหมายและกฎกระทรวงของกรมทรัพย์สิน จุดอ่อนในระบบสิทธิบัตรไทยทัศนคติที่เข้าข้างนักลงทุนไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของสาธารณชน ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญาจนทำให้ประเทศชาติเสียหายผู้ป่วยเดือดร้อน ล่าสุดยังพบว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.ยาเสพติดที่อนุญาตให้พืชกัญชาและกระท่อมใช้ในทางการแพทย์ได้ออกไปไม่มีกำหนด เพราะกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนของสิทธิบัตรกัญชา
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาทำผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่มีขั้นตอนการยกคำขอโดยกรมได้เลย ก่อนการประกาศโฆษณาเมื่อตรวจพบคำขอที่ขัดมาตรา 9 เช่น ในคำขอที่ 7 รักษาลมบ้าหมู ซึ่งในกรณีกัญชา มีทั้งสารสกัดจากพืช การใช้เพื่อรักษาโรค แล้วอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ โดยอ้างกระบวนการในต่างประเทศ ทั้งที่ผิดมาตรา 9 ทั้งสิ้น และยังผิดขั้นตอนการรับและตรวจสอบกฏกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 แต่กรมฯกลับละเลยปล่อยคำขอเหล่านี้ออกมา
นายวิฑูรย์ ยังกล่าวว่า พบหลายคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา ผู้ขอคือบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โอซุกะฟาร์มาซูติคอล ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ร่วมคณะบริหารของบริษัทนั้นด้วย
“นอกเหนือจากเป็นความบกพร่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประกาศยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะใช้ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นราก ฐานของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพแต่กลับปล่อยปะละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้มีรับจดสิทธิบัตรรับคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งจะทำลายการต่อยอดนวัตกรรมของประเทศ”นายวิฑูรย์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ และ คสช.มีความพยายามในการออกม.44 เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรคงค้าง โดยอ้างว่า ทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียที่ตรวจสอบไม่เร็วพอ ซึ่งถูกคัดค้านว่าจะเป็นการปล่อยสิทธิบัตรจนขัดขวางการเข้าถึงยา
ด้าน ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงยา ชี้ว่าจากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่ พบคำขอสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยโดยไม่มีหลักการแน่ชัด ซึ่งประเด็นนี้กรมทรัพย์สินฯ ต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ และต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนไหนอย่างไร
ภาคประชาสังคมจึงเสนอให้องค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีงานวิจัยและเตรียมขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ และขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ที่เห็นแก่ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเอาผิดเจ้าหน้าที่และอธิบดีกรมฯ และต้องลงมือปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา.-สำนักข่าวไทย