กรุงเทพฯ 8 พ.ย.- “อุดม รัฐอมฤต” ยันรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สิน มางอกตอนกฎหมายลูก และป.ป.ช.กำหนดในประกาศเอง แนะรัฐหารือป.ป.ช.แก้กฎหมายลูกเพื่อชัดเจน เชื่อกระทบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุการให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย และนายกสภามหาวิทยาลัย แจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัย ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องให้แจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่เป็นการเขียนระเบียบของป.ป.ช.โดยการตีความคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีในบทนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงให้หมายรวมถึงกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐ หรือตำแหน่งเทียบเท่าตามที่ป.ป.ช.ประกาศ
อดีตโฆษก กรธ. กล่าวว่า ตอนที่กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติคำว่ากรรมการเอาไว้ แต่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในสนช. จึงทำให้ป.ป.ช.ตีความว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัย เสมือนเป็นบอร์ดของหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อเทียบกับบอร์ดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะมีอำนาจในการพิจารณาต่าง ๆ ค่อนข้างมากกกว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จะมีอำนาจด้านวิชาการมากกว่าเชิงผลประโยชน์เป็นตัวเงิน จึงเป็นปัญหาทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตัดสินใจลาออก เพราะไม่อยากยุ่งยากในการกรอกข้อความ ซึ่งถ้าเทียบกับค่าตอบแทนที่ได้รับ ก็ไม่คุ้มค่า
นายอุดม กล่าวว่า ในขณะที่บุคคลเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้รับเชิญเข้าไปเป็นกรรมการ เพราะสถาบันการศึกษาต้องการได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หากปล่อยไว้ จะกลายเป็นปัญหาของสภาบันการศึกษา ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องให้รัฐบาลหารือป.ป.ช.พิจารณาปรับแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
“คงไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อย่างมากที่สุดคือแก้กฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้มีคำนี้ในรัฐธรรมนูญ มาเพิ่มตอนกฎหมายลูก ถ้าแก้แค่ประกาศป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องหารือระหว่างรัฐบาล กับป.ป.ช.ว่าเจตนารมณ์เห็นแล้วว่าการให้คนที่ถูกเชิญให้ไปช่วยงาน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จะวุ่นวายกันใหญ่ คนที่เขาไม่ประสงค์จะยื่น เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไรในเรื่องที่ไม่ต้องดำรงตำแหน่งพวกนี้ กลายเป็นเรื่องของรัฐที่จะให้ความช่วยเหลือ และแน่นอนว่าคนที่เราไปเชิญให้คนเหล่านี้มาเป็นนายกฯ สภา กรรมการสภา ซึ่งทำงานในรูปกรรมการ ดังนั้นผมคิดว่าตรงนี้ถ้าแก้ไขตัวกฎหมายลูกได้จะเป็นเรื่องดีที่สุด”นายอุดม กล่าว
อดีตโฆษก กรธ. กล่าวด้วยว่า แม้ไม่ได้กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยแจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่ทางป.ป.ช.มีอำนาจในการตรวจสอบบุคคลเหล่านี้ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อยู่แล้วหากมีข้อสงสัย ก็สั่งให้ยื่นบัญชีได้อยู่แล้ว และกรณีของกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยนี้ ไม่ได้ยื่นบัญชีต่อป.ป.ช.เหมือนข้าราชการทั่วไปที่ยื่นแล้วให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ แต่เป็นการยื่นที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณอีกด้วย จึงทำให้ไม่มีใครอยากจะเข้ามาทำงานตรงนี้ และจะเป็นปัญหาต่อสถาบันอุดมศึกษา จึงเป็นที่มาของการคัดค้านดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย